‘ไอเอ็มเอฟ’เตือนชาติอาหรับแบกหนี้สาธารณะอ่วม

‘ไอเอ็มเอฟ’เตือนชาติอาหรับแบกหนี้สาธารณะอ่วม

“คริสติน ลาการ์ด” เตือนบรรดาประเทศอาหรับอาจเผชิญหนี้สาธารณะท่วม หลังระดับหนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในการประชุมการคลังอาหรับที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) วานนี้ (9 ก.พ.) ว่า หลายประเทศในอาหรับมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 เนื่องจากขาดดุลงบประมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

นางลาการ์ด เผยว่า ระดับหนี้สาธารณะในกลุ่มชาติส่งออกน้ำมันในอาหรับซึ่งรวมถึง 6 ชาติสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ เพิ่มขึ้นจาก 64% มาอยู่ที่ 85% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2551

“โชคร้ายที่ภูมิภาคนี้ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากวิกฤติการเงินโลกครั้งก่อน และการเคลื่อนที่ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่อื่น ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟชี้ว่าเนื่องจากรายได้ที่ลดลง ทำให้การขาดดุลทางการคลังลดลงอย่างเชื่องช้า แม้จะมีการปฏิรูปครั้งสำคัญทั้งด้านการใช้จ่ายและรายได้ รวมถึงการกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต

“ปัจจัยดังกล่าวทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นอย่างมากจาก 13% ของจีดีพีในปี 2556 มาอยู่ที่33% ในปี 2561”

นอกจากนั้น นางลาการ์ดเสริมว่า บรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำมันยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างรุนแรงในปี 2557 และแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก แม้เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวเล็กน้อยก็ตาม

ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมเตือนว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ นอกจากนั้นยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตของซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงรอบใหม่ ผลผลิตน้ำมันต่ำ และความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง

ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.5% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 3.7% สำหรับทั้ง 2 ปีที่มีการคาดการณ์ในเดือนต.ค. ปีที่แล้ว