‘ฟูจิตสึ’โหมโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะ

‘ฟูจิตสึ’โหมโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะ

“ฟูจิตสึ” โหนกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปักธงลุยหนักโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะ สมาร์ทเวิร์คเพลส ชี้ลูกค้าตื่นตัว มุ่งลงทุนนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถการผลิต

นายไกวัลย์ บุญเสรฐ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัล โซลูชั่น บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาด้านโรงงานอัจฉริยะรวมถึงอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบัน โรงงานขนาดใหญ่ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทข้ามชาติเริ่มมีการรับรู้ที่ชัดเจน ต่างมุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ ส่วนธุรกิจระดับเอสเอ็มอียังต้องอาศัยการให้ความรู้ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานการทำงาน การผลิต ประเมินขณะนี้องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ทว่ายังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา

ด้านเทรนด์เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลอย่างมากหนีไม่พ้น ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ระบบออโตเมชั่น และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ทว่ายังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการปรับใช้ เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดสู่การทำดาต้าอนาไลติกส์ในอนาคต 

"ตลาดรับรู้เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องช่วยกันเข้าไปให้ความรู้ ปรับทัศนคติ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากแต่ก่อนเก็บไว้เฉยๆ ทุกวันนี้ราคาเทคโนโลยีถูกลงอย่างมาก ดังนั้นแม้แต่เอสเอ็มอีซึ่งมีงบประมาณการลงทุนจำกัดก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน"

ส่วนของบริษัท ทิศทางธุรกิจปีนี้ มุ่งผลักดันธุรกิจองค์กรให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม โดย 4 ธุรกิจหลักที่จะให้ความสำคัญอย่างมากประกอบด้วย ระบบอีอาร์พี, ดิจิทัล อินโนเวชั่น, แมเนจ เซอร์วิส, และซิเคียวริตี้ ส่วนกลุ่มตลาดหลักมุ่งโฟกัสคือธุรกิจปลีก โซโห การผลิต รวมถึงการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ และสมาร์ทเวิร์คเพลสต่างๆ

เขากล่าวว่า แนวทางการทำตลาด หลักๆ เข้าไปตามสมาคม สมาพันธ์อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตซึ่งนับเป็นความท้าทายของผู้ให้บริการไอทีทุกราย ที่ผ่านมาการตัดสินใจลงทุนของลูกค้าและประเมินความคุ้มค่าการคืนทุน(อาร์โอไอ) มักพิจารณาจากความสำเร็จของโครงการต้นแบบ(พีโอซี) หากผลออกมาดีก็จะตัดสินใจลงทุน

สำหรับผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ ล่าสุดพัฒนาแอพพลิเคชั่น “DWOT(Digital Work & Operation Tracking)” เพื่อสนับสนุนองค์กรธุรกิจต่อยอดความสำเร็จในยุคดิจิทัล มาพร้อมความสามารถที่ช่วยพัฒนาสถานที่ทำงานให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ สามารถตรวจสอบดูการทำงานของระบบ พนักงาน ทำให้บริหารจัดการได้แบบเรียลไทม์ ในแผนประมาณไตรมาสที่ 3 เตรียมขยายการให้บริการไประดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศแรกที่สนใจคือมาเลเซีย

“ในภาคการผลิตส่วนที่สำคัญที่สุดคือคนและเครื่องจักร การทำให้ประสิทธิภาพออกมาสูงสุดจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนนี้ ทุกวันนี้เห็นได้ว่าองค์กรมองเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ดี เป้าหมายธุรกิจปี 2562 ตั้งเป้าการเติบโตไว้มากกว่า 10% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมตลาดไอทีไทยซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 5% สัดส่วนรายได้ของธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่นกว่า 40% มาจากโรงงานอัจฉริยะ ที่เหลือ 60% เป็นการพัฒนาส่วนของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

พร้อมระบุว่า เริ่มเข้ามาโฟกัสตลาดดิจิทัลโซลูชั่นประมาณ 2 ปี เชื่อว่าทิศทางการลงทุนของลูกค้าจะยังเป็นบวก โดยเฉพาะโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะ และที่น่าสนใจคือสมาร์ทเวิร์คเพลส ซึ่งเทรนด์ทั่วโลกรวมถึงไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นตามลำดับ