“ทรัมป์”ส่งสายเหยี่ยวก.คลังนั่งปธ.เวิลด์แบงก์

“ทรัมป์”ส่งสายเหยี่ยวก.คลังนั่งปธ.เวิลด์แบงก์

การสรรหาประธานธนาคารโลก สถาบันโด่งดังที่สุดแห่งหนึี่งของโลก จะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี (7 ก.พ.)นี้ เป็นไปได้ว่าอาจได้คนอเมริกันมานั่งในตำแหน่งนี้อีกครั้งหนึ่ง

นับตั้งแต่ก่อตั้งมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารโลกซึ่งมีฐานปฏิบัติการในกรุงวอชิงตัน มักได้ชาวอเมริกันเป็นผู้นำขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นำโดยคนยุโรป เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้เขียนไว้อย่างเป็นทางการแต่ได้รับการปฏิบัติเสมอมา

ตอนหลังประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มท้าทายธรรมเนียมปฏิบัตินี้มากขึ้น เรียกร้องให้กระบวนการสรรหาเปิดกว้างและใช้ระบบคุณธรรม พร้อมทั้งขอให้พวกตนได้มีปากมีเสียงมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ยังเสียงไม่ดังมากพอคัดค้านคนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เสนอได้ และทรัมป์เองก็ไม่มีทีท่ายอมยกตำแหน่งสำคัญระดับโลกให้ประเทศอื่น

เจ้าหน้าที่ผู้คุ้นเคยกับกระบวนการสรรหาเผยว่า ต้องรอจนกว่าคนที่ทรัมป์เสนอชื่อขาดคุณสมบัติหรือไม่ดีพอจนถูกคัดค้าน หรือไม่สามารถทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่หรือยุโรปเห็นพ้องได้นั่นล่ะ คนอื่นถึงจะมีโอกาส แต่ถ้ายุโรปไม่เอาคนที่สหรัฐเลือก ก็เท่ากับว่ายุโรปสูญเสียตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟที่โด่งดังกว่ามาก เมื่อคริสติน ลาการ์ด พ้นตำแหน่งไป

“นึกถึงการที่ประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกัน ผนึกกำลังกันน่ะเหรอ ผมคิดไม่ออกหรอก เมื่อราว 6-8 ปีก่อนพวกเขาดูเหมือนจะรวมตัวกันแข็งขัน แต่ตอนนี้ไม่น่าใช่”ไซม่อน จอห์นสันอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟกล่าว

ที่ต้องเลือกผู้นำธนาคารโลกกันใหม่ก็เพราะ จิม ยอง คิม ลาออกอย่างกะทันหัน มีผลวันที่ 1 ก.พ. ทั้งๆ ที่รับตำแหน่งสมัย 2 วาระ 5 ปีมาได้เพียงครึ่งทาง เมื่อจิมไปเสียอย่างนี้จึงเปิดโอกาสให้ทรัมป์เข้ามาจัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งนี้ได้

หลังจากปรับโฉมการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ รวมไปถึงพันธมิตรเก่าแก่ ความสัมพันธ์ทางการค้า และศาลฎีกาสหรัฐ ตอนนี้ทรัมป์อาจมีโอกาสสร้างอิทธิพลว่าประเทศอย่างจีนจะเข้าถึงเงินกู้ของเวิลด์แบงก์ได้มากน้อยแค่ไหน

คณะกรรมการบริหารเวิลด์แบงก์เปิดรับรายชื่อตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.-14 มี.ค. และมีแผนเสนอชื่อประธานคนใหม่ก่อนการประชุมไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ประจำฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 12-14 เม.ย.ที่กรุงวอชิงตัน สมาชิกทั้ง 189 ประเทศมีสิทธิเสนอชื่อคู่แข่ง

ล่าสุด  เว็บไซต์ซีเอ็นบีซียืนยันว่าทรัมป์ เล็งเสนอเดวิด มัลพาสส์  เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่มีนโยบายการทำงานแบบเด็ดขาดและวิจารณ์จีนอย่างหนัก เป็นประธานเวิลด์แบงก์ โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการวันพุธตามเวลาท้องถิ่น

ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดสหรัฐมีอำนาจครอบงำการคัดเลือกประธานธนาคารโลกคนใหม่แต่ไม่มีอำนาจวีโต้ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากชาติยุโรป แต่การป่วนพันธมิตรเก่าจนเสียกระบวน และวิจารณ์นโยบายปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟกับเวิลด์แบงก์อย่างรุนแรงระหว่าง 2 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง ทรัมป์อาจพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันคนของตนให้ได้รับการยอมรับ

มาร์ค โซเบล  ที่เคยทำงานกับกระทรวงการคลังสหรัฐมานาน โดยดูแลงานด้านไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนการนำในธนาคารโลกแล้ว แต่เขาเห็นพ้องกับจอห์นสันว่า ตอนนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่เหนียวแน่นกันเหมือนช่วงวิกฤติการเงินโลก ที่เริ่มต้นและกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเป็นส่วนใหญ่

“ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐเลือกใคร และเขาคนนั้นเป็นปรปักษ์กับธนาคารหรือมีผลงานน่าเชื่อถือและสนับสนุนธนาคารหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า จะดีมากหากได้คนที่น่าเชื่อถือมาทำงานโดยไม่คำนึงว่าเป็นคนชาติไหน”

มัลพาสส์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังว่าด้วยกิจการระหว่างประเทศ เป็นคนวิจารณ์เวิลด์แบงก์อย่างหนัก ฐานปล่อยกู้ให้จีนและประเทศฐานะดีต่อเนื่อง

โทนี แฟรตโตอดีตรัฐมนตรีช่วยคลังสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มองว่า เดวิด มัลพาสส์คือหายนะ เขาคือตัวเลือกเลวร้ายสำหรับตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์

ด้านมาซุด อาเหม็ดประธานศูนย์การพัฒนาโลกในกรุงวอชิงตัน ที่เคยทำงานในเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟมายาวนานกล่าวว่า ผู้สมัครรายนี้ที่ใครๆ ก็รู้กันทั่วว่ามีทัศนคติดอย่างไรคงหาคนสนับสนุนได้ยาก

“ไม่ว่าเขาคนนั้นเป็นใคร สิ่งสำคัญคือต้องเป็นคนที่สร้างฉันทามติและความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ถือหุ้นให้ได้”และถ้ายังยึดติดกับหลักการเลือกผู้นำแบบเดิมๆ ที่ใช้กันมาหลายสิบปีทั้งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟไม่ยอมใช้กระบวนการสรรหาตามหลักคุณธรรมอย่างแท้จริง สุดท้ายมีแต่จะบั่นทอนความขอบธรรมและน่าเชื่อถือขององค์กรไปในที่สุด