สำรวจเส้นทาง ‘เอไอ’ เมกะเทรนด์สะเทือนโลกไอที

สำรวจเส้นทาง ‘เอไอ’ เมกะเทรนด์สะเทือนโลกไอที

ปี 2562 องค์กรจะยังไม่พร้อมใช้งานเอไอเต็มรูปแบบ

การมาของเมกะเทรนด์เทคโนโลยีอย่าง “เอไอ” สร้างความตื่นตัวการลงทุนไอทีและนวัตกรรมในวงกว้าง ทว่าในสนามจริงการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อใด ยังต้องรอเวลาพิสูจน์...

ริค ไรเดอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี อินโฟร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเทรนด์ด้านปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ในปี 2562 ว่า จะเป็นปีที่ทุกคนพุ่งความสนใจเข้าไปหา แต่กลับไม่ใช่ปีที่จะใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ

เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ แม้ว่าฝ่ายไอทีและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างต้องการใช้งานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้งานคือเรื่องของค่าใช้จ่าย 

“ผู้บริหารและบอร์ดต้องการทราบให้แน่ชัดก่อนว่า เมื่อนำเอไอมาใช้แล้วจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน(ROI) คุ้มค่าจริงหรือไม่ ทำให้ปีนี้เป็นเพียงปีแห่งการทดสอบเพื่อวัดผลประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ”

ต้องมีเป้าหมายชัดเจน

สำหรับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่องค์กรต้องเผชิญ คือ การทำให้เกิดความรู้และความไว้ใจในเทคโนโลยี รู้ว่าแท้จริงแล้วเอไอทำงานอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องรวดเร็ว

โดยหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ การหาเทคโนโลยีที่จะนำพาไปรู้จักกับกระบวนการทำงานของเอไอ โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการเขียนโค้ด หรือการใช้เครื่องมือที่เป็นกฎเกณฑ์ที่อุปโลกน์ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดก็คือเรื่องของการคำนวณขั้นสูงที่ใช้ค้นหารูปแบบต่างๆ ในข้อมูลที่มีให้กับผู้ใช้งาน

ไรเดอร์วิเคราะห์ว่า ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับการคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเท่านั้นก็พอ เนื่องจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนระบบคลาวด์เป็นการดูแลโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ก่อนที่องค์กรต่างๆ จะนำเอไอมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาจะต้องสามารถวัดได้อย่างชัดเจนว่า จะประหยัดต้นทุนหรือสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด จากการคาดการณ์ต่างๆ ที่มาจากความสามารถของระบบเอไอในการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์เพื่อสื่อสารและวิเคราะห์ข้อมูล หรือที่เรียกว่า “Natural Language Processing: NLP” และแมชีนเลิร์นนิง

ส่วนตัวชี้วัดความคุ้มค่าการลงทุนที่เป็นรูปธรรมนั้นประกอบด้วย ความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า ความสามารถในบริหารระบบสินค้าคงคลังเพื่อรักษาโอกาสทางการขาย ความสามารถในการบริหารส่วนต่างกำไร ขาดทุน ความสามารถในการป้องกันระบบอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ล่มและหยุดทำงานซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียทางการเงิน 

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของเอไอนั้น องค์กรควรมองหาแพลตฟอร์มที่ใช้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานทางธุรกิจ และควรหลีกเลี่ยงการทดสอบแพลตฟอร์มที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาเพียงจุดเดียว หรือที่ทำมาแบบสำเร็จรูป

คาด 'ไอโอที' แจ้งเกิดก่อน

ผู้บริหารอินโฟร์กล่าวต่อว่า เอไอเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะ(Horizontal Technology) และสามารถใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกรูปแบบการใช้งาน หมายความว่า แทนที่จะใช้งานโซลูชั่นที่มีคุณสมบัติประการเดียวกับงานหนึ่งในอุตสาหกรรมหนึ่ง ทำไมจึงไม่ใช้โซลูชั่นเดียวที่มีคุณสมบัติครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในการใช้งานโซลูชั่นที่มีเอไอฝังตัวมาเรียบร้อยแล้ว โซลูชั่นแบบนี้เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กับงานที่ต้องทำซ้ำๆ เพราะมีรูปแบบของข้อมูลที่ต่างกันมาก

ข้อมูล "Constellation Research 2018 Artificial Intelligence Study” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่ผ่านมาระบุว่า 60% ขององค์กรผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนด้านเอไอ กว่า 50% เริ่มมีการจัดงบประมาณด้านเอไอเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ 52% ระบุว่ามีการทำโครงการด้านเอไอ หรือเป็นโปรแกรมนำร่องในแผนกไอที 50% ระบุว่ามีการใช้เอไอ หรือเป็นโครงการนำร่องในด้านการให้บริการลูกค้าการพาณิชย์ ขณะที่ 46% มีการใช้เอไอหรือเป็นโครงการนำร่องในด้านการขายและการตลาด 36% มีการใช้เอไอหรือเป็นโครงการนำร่องในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน

อุตสาหกรรมที่จะมีการนำเอไอไปใช้มากที่สุดคือ ภาคการผลิต การบริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กร(EAM), การจัดจำหน่าย, ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า(CRM), ภาคการเงิน, และการดูแลสุขภาพตามลำดับ

กล่าวโดยสรุปแล้ว ปี 2562 องค์กรจะยังไม่พร้อมใช้งานเอไออย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่โดดเด่นและถูกนำไปปรับใช้ก่อนเป็นเฟสแรกๆ จะยังคงอยู่ในกลุ่มไอโอที รวมถึงแพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรม

ทว่าเมื่อใดที่มีความพร้อม องค์กรธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากอัตรากำไรที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการขาย ควบคู่กับความสามารถในการแข่งขัน จากการที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกจากรูปแบบของข้อมูลที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน สำคัญทำให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถเริ่มให้บริการสินค้าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ได้เป็นรายแรกๆ