สหรัฐฯภูมิใจ3นักวิจัยชาวอเมริกัน คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

สหรัฐฯภูมิใจ3นักวิจัยชาวอเมริกัน คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

อุปทูตปีเตอร์ เฮย์มอนด์ เผยสหรัฐฯภูมิใจ3นักวิจัยชาวอเมริกัน คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ย้ำความร่วมมือด้านสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข

นักวิจัยและคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 จะเข้าร่วมในงานรับรองเชิดชูเกียรติที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในช่วงเย็นของวันนี้ งานเลี้ยงครั้งนี้เน้นย้ำความร่วมมือด้านสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข เป็นเสาหลักของความสัมพันธ์สหรัฐฯ – ไทย

ในปีนี้ นักวิจัยชาวอเมริกัน 3 คน ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ (Brian J. Druker) จากผลงานการค้นพบยาต้นแบบในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และศาสตราจารย์ด็อกเตอร์แมรี่ แคลร์ คิง (Mary-Claire King) จากการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และในสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (John D. Clemens) ซึ่งทำงานร่วมกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Jan Holmgren) ชาวสวีเดนในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน การร่วมงานกันเช่นนี้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญที่งานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย


งานเลี้ยงดังกล่าวจะจัดขึ้นที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ ตัวแทนองค์กรและหน่วยงานความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากไทยและสหรัฐฯ รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) หน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (USAMC-AFRIMS) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) เข้าร่วมงาน


อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ กล่าวว่า "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติผู้มีคุณูปการที่โดดเด่นและเป็นแบบอย่างของความก้าวหน้าด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของโลก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ซึ่งเสด็จเข้าศึกษาวิชาการแพทย์และสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงพระองค์ไว้ว่า 'ทรงเป็นแบบอย่างความทุ่มเทในชีวิตและการทำงานเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งหลายทำสิ่งตอบแทนสังคม' "

"สหรัฐฯ มีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่นักวิจัยและคณะแพทย์ชาวอเมริกันได้รับพระราชทานรางวัลในปีนี้ ความร่วมมือด้านสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข นับเป็นเสาหลักของความร่วมมืออันยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และไทย พวกเรามุ่งหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยในลำดับต่อไปในการร่วมกันดูแล ป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชากรโลก" อุปทูตเฮย์มอนด์กล่าว