ยึดงานรัฐยกฐานะ โจทย์หินหุ้นใหญ่ 'ลีนะบรรจง'

ยึดงานรัฐยกฐานะ โจทย์หินหุ้นใหญ่ 'ลีนะบรรจง'

ไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า 'อีเอ็มซี' ต้องมีมูลค่างานในมือแตะ 'หมื่นล้าน' โจทย์หินของ 'เสี่ยขุน-ชนะชัย ลีนะบรรจง' หุ้นใหญ่ของยึดยุทธศาสตร์มุ่งเน้นงานรัฐ โดยเฉพาะก่อสร้างโรงพยาบาล หวังผลักดันตัวเลขผลประกอบการเทิร์นอะราวด์

ผ่านมากว่า 10 ปี กลับการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อีเอ็มซี หรือ EMC ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของ 'ตระกูลลีนะบรรจง' จากประวัติการทำธุรกิจที่ผ่านมา นักลงทุนต่างพากันเข็ดกับพฤติกรรมการทำธุรกิจที่ยื้อแย่งกันมา ซึ่งถือว่าโด่งดังไปทั่ววงการ ก่อนสถานการณ์ทุกอย่างจะเงียบสงบลง...!!  

เมื่อตระกูลลีนะบรรจงนำโดย 'เสี่ยขุน-ชนะชัย ลีนะบรรจง' เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ EMC ทว่าสารพัดเหตุผลในเรื่องของปัญหาคดีความต่างๆ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถทำธุรกิจได้เต็มที่ และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับโครงสร้างภายใน ทำให้ผลประกอบการย้อนหลังมีตัวเลข 'ขาดทุนสุทธิ' ติดต่อกันมาตลอด  

จากนั้นเมื่อราว 3 ปีก่อน คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้มีมติแต่งตั้ง 'รัฐชัย ภิชยภูมิ' มารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บมจ.อีเอ็มซี หรือ EMC 

โดย 'รัฐชัย' บอก 'วิชั่น' ของผู้ถือหุ้นใหญ่ EMC กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ต้องการเห็นบริษัทกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' อีกครั้งให้เร็วที่สุด... !! และมีเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) มูลค่างานในมือ (Backlog) แตะระดับ 'หมื่นล้าน' ขณะที่รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% ทุกปี และที่สำคัญคือการคืนกำไรกลับมาให้ผู้ถือหุ้น 

'ช่วงที่ผ่านมาเราทำงานแบบเงียบๆ มาโดยตลอด แต่ในช่วง 1-2 ปี เราเริ่มมองเห็นการจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ หลังจากปัญหาเรื่องคดีความต่างๆ เริ่มนิ่งแล้ว ตอนนี้เราเปรียบเหมือนฟ้าหลังฝนแล้ว'  

สะท้อนผ่านบริษัทมีผลประกอบการพลิกมาเป็นบวกตั้งแต่ไตมาส 2 ปี 2561 โดยมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาท และในไตรมาส 3 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 60 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิ 72 ล้านบาท สำหรับโครงการตัวที่เข้ามาพลิกให้ผลประกอบการเป็นบวกคือการที่บริษัทรับรู้รายได้ 'โครงการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน' มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัททยอยรับรู้รายได้เข้ามาในปี 2561 ค่อนข้างมาก อีกส่วนคือการรับรู้รายได้ของการโอนโครงการพัฒนาอสังหาฯ 2 โครงการ คือ ที่สุขุมวิท และบางแสน จังหวัด ชลบุรี 

'เป็น 3 โครงการที่เรารับรู้รายได้เข้ามาทำให้บริษัทสามารถพลิกกลับมาเป็นบวก ประกอบกับตอนนี้เราไม่ต้องมีการตั้งสำรองเรื่องคดีความ เพราะว่าบริษัทมีการตั้งสำรองไปทั้งหมดแล้ว และคดีความอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของศาล ซึ่งทำให้เรามาเน้นการทำธุรกิจอย่างเต็มที'

ปัจจุบัน EMC แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจทางด้านการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง และรับจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและประปา คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 60% และ 2.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% โดยบริษัทมีความตั้งใจในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แนวความคิด ของความยั่งยืน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย การสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อสังคม คุณภาพ และเพื่อสร้างความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด

เขา แจกแจงแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้าให้ฟังว่า บริษัทมุ่งเน้นรับงานรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ หลังจากที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จจากโครงการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายในปี 2562 สัดส่วนรับงานภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 70 : 30 และบริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่างานในมือในปีนี้จำนวน 5,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 3,000 ล้านบาท   

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าเข้าสู่งานภาครัฐมากขึ้นนั้น เพื่อรองรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งบริษัทได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขยายงานก่อสร้างจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐมากขึ้น ทั้งนี้การขยายตลาดสู่ภาครัฐยังช่วยลดความเสี่ยงใน การดำเนินงานจากเดิมที่เป็นงานภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งงานในภาครัฐจะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงินเป็นอย่างดีอีกด้วย 

โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2562 เติบโตจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 25% จากปัจจุบันธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีงานในมือ (Backlog) จำนวน 1 โครงการ มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีการรับรู้เป็นรายได้ไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท จะรับรู้ภายในปีนี้ทั้งหมด ประกอบกับบริษัทมียอดขายรอโอน ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 6 โครงการมูลค่ารวมราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ด้วย

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญางานใหม่ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานราชการ 1 โครงการ และภาคเอกชน 1 โครงการ คาดว่าจะสามารถมีความชัดเจนไม่เกินไตรมาส 1 ปี 2562 

อย่างไรก็ตาม โครงการของภาครัฐที่บริษัทอยู่ระหว่างสนใจยื่นประมูลจะเป็นงานก่อสร้างโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็น 'ตลาดที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก' (Blue Ocean) และตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณะสุขยังมีนโยบายการขยายโรงพยาบาลรัฐอีกมหาศาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปัจจุบันสาธารณะสุขพยายามเน้นในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเมืองไทยกำลังจะเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' (Aged Society) เพราะฉะนั้นสาธารณะสุขพยายามที่จะสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุให้ครบทั้งทุกจังหวัด คาดว่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า “หมื่นล้านบาท” สำหรับใช้ในการลงทุน

'เราพยายามเน้นในงานก่อสร้างโรงพยาบาลเนื่องจากเรามีความชำนาญแล้ว'  

ขณะที่ 'ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์' ตอนนี้มีอยู่ในมือจำนวน 6 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่บริษัทซื้อมา 4 แห่ง และพัฒนาเอง 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการ Urbitia Thonglor, Landmark Mahachai, Siam Iyara Resort, Seaside Bangsaen, Palmio และ Station One โดยคาดว่าทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปี 2562

'รัฐชัย' บอกต่อว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ 2-3 โครงการต่อปี มูลค่ารวมราว 2,000 ล้านบาท โดยจะเน้นทำเลติดแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ซึ่งได้เจรจาเบื้องต้นและศึกษาราคาที่ดินแล้ว ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีที่ดินพร้อมพัฒนาราว 10 ไร่ ซึ่งการลงทุนใหม่ ๆ บริษัทได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์กว่า 50% ของราคาที่ดิน

อย่างไรก็ดี บริษัทตั้งเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ระดับ 30-35% นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล และสุขาภิบาลครบวงจร มีประสบการณ์และผลงานทางด้านงานระบบเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ โดยเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพมีคุณภาพและส่งมอบได้ตรงตามกำหนด ภายใต้ระบบบริหารคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2008 ที่ได้นำมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบงานเดิม  

โดยบริษัทยังได้พัฒนาระบบการควบคุมต้นทุนทางด้านบัญชีเพื่อให้สามารถ ติดตามสถานะของต้นทุนได้ตลอดเวลา มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง จัดผลตอบแทนพิเศษให้กับ ทีมงานตามผลงาน ภายใต้แนวคิดการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ในการบริหาร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพเป็นนโยบายสำคัญในการทำงานขณะที่ พันธมิตรทางการค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากจะสร้างพันธมิตรเพื่อรับงานภายในประเทศแล้ว บริษัทได้เริ่มขยายงานด้าน วิศวกรรมระบบไปยังต่างประเทศแล้ว      

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เขาบอกว่า จะมีงานประมูลโครงการภาครัฐออกมามาก จากการกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่  ซึ่งบริษัทจะพิจารณาลักษณะงานในการเข้ารับงานต่อไป ส่วนภาคเอกชนคาดว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากผู้ประกอบการจีนและญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาขยายกิจการในไทย

อย่างไรก็ตาม มูลค่าของอตุสาหกรรมการก่อสร้างมาจากการลงทุนของภาครัฐประมาณ 60-70% ของ มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งหมด ส่วนที่เหลือประมาณ 30-40% เป็นการลงทุนที่มาจากภาคเอกชน ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้นโยบายกระตุ้นภาคการก่อสร้างของภาครัฐ และคาดว่าการลงทุนของภาครัฐก็ยังคงจะเป็น ปัจจัยหลักที่จะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในอนาคต โดยเป็นผลมาจากโครงการลงทุน ของภาครัฐที่จะเริ่มดำเนินการในอนาคตและโครงการต่อเนื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานโดยเฉพาะการ ลงทุนุในภาคการคมนาคมขนส่ง และงานพัฒนาระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่ยังจะคงเป็นแรงผลักดัน ที่สำคัญในภาคการก่อสร้างของภาครัฐ   

นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 2,600 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี (ปี 2562-2565) ด้วยเงินจากผลประกอบการ ซึ่งมองว่าผลประกอบการของบริษัทได้ 'ผ่านจุดต่ำสุด' ไปแล้ว โดยแนวโน้มปี 2561 คาดว่าจะพลิกเป็นกำไรได้ โดยจะมีการประกาศงบการเงินภายในเดือนก.พ.62 

อย่างไรก็ดีบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางอื่น ๆ ในการล้างขาดทุนสะสม เช่น การลดทุนจดทะเบียน แต่ยังต้องประเมินและพิจารณาถึงผลดีและผลเสียต่อไป

ท้ายสุด 'รัฐชัย' ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทมีนโยบายในการขยายงานก่อสร้างในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศูนย์การค้าขนาดเล็กในรูปแบบของ Community Mall , อาคารโรงพยาบาล รวมทั้งอาคารโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมที่เป็นอาคารสูงทั้งในรูปแบบของคอนโดมิเนียมและโรงแรม เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานต่อไปด้วย