สพฐ. สั่งร.ร.วัดค่าฝุ่นพิษ อย่างน้อยวันละ 4 เวลา

สพฐ. สั่งร.ร.วัดค่าฝุ่นพิษ อย่างน้อยวันละ 4 เวลา

สพฐ. สั่งโรงเรียนวัดค่าฝุ่น อย่างน้อยวันละ 4 เวลา ผ่านแอพพลิเคชั่น Air4 thai เพื่อเก็บข้อมูลค่ามลพิษและเปรียบเทียบ

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในสถานศึกษา ร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้โรงเรียนดำเนินการสำรวจตรวจสอบจำนวนยานพาหนะที่ใช้ในการรับส่งนักเรียน โดยแบ่งเป็นประเภทและจำนวนอย่างชัดเจน รวมถึงวัดปริมาณความหนาแน่นของค่าฝุ่น ในช่วงเช้า กลางวัน บ่าย และเย็น อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ผ่านแอพพลิเคชั่น Air4 thai เพื่อที่จะเก็บข้อมูลค่ามลพิษและเปรียบเทียบ พร้อมทั้งนำข้อมูลนี้มาหารือร่วมกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางการลดค่าฝุ่นละออง โดยขณะนี้มีหลายโรงเรียนที่เริ่มดำเนินการวางแนวทางการแก้ปัญหานี้แล้ว

ทั้งนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ยังได้ฝากให้โรงเรียนได้สำรวจนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัวที่อาจจะแพ้ฝุ่นละออง หรือแพ้ง่าย และดูแลอย่างเป็นพิเศษ พร้อมทั้งเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ไว้รับรองด้วย เช่น ถังออกซิเจน เป็นต้น

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งโดยในระยะสั้น เช่น รณรงค์เรื่องเกี่ยวกับสาเหตุฝุ่นพิษ การหาองค์ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรณรงค์ให้บริษัทเอกชน หรือ ห้างร้านที่สนใจจะบริจาค หน้ากากอนามัยให้กับนักเรียน ก็สามารถติดต่อไปทางโรงเรียนได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สพฐ.ยังได้รับรายงานว่า มีจังหวัดที่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มเติม คือ เชียงใหม่ สระบุรี กาญจนบุรี ซึ่ง สพฐ.ได้ย้ำเตือนว่าให้ผู้อำนวยการโรงเรียนตรวจสอบค่าฝุ่นและใช้อำนาจหยุดการเรียนการสอนด้วยเหตุพิเศษได้ไม่เกิน 7 วัน

“สพฐ.มีความเป็นห่วง กรณีที่เด็กจะต้องหยุดเรียนหลายวัน ซึ่งเราได้มีตัวช่วยในการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน เช่น โครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV), www.ติวฟรี.com, แอพพลิเคชั่น Echo english เป็นต้น ทั้งนี้หากโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาแห่งใดที่มีความพร้อมและครูมีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี และสามารถสอนแบบไลฟ์สดได้ ก็ทำได้เลย”เลขาฯ กพฐ.กล่าว