สารกันบูดจากไข่ขาว

สารกันบูดจากไข่ขาว

“ไลโซไซม์” สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว ผลงานวิจัยจากไบโอเทคที่ “ดีเอ็มเอฟ” เตรียมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ล่าสุดลงทุน 100 ล้านบาทตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบออกทดสอบในตลาดอาหารสัตว์

“ไลโซไซม์” สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว ผลงานวิจัยจากไบโอเทคที่ “ดีเอ็มเอฟ” เตรียมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ล่าสุดลงทุน 100 ล้านบาทตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบออกทดสอบในตลาดอาหารสัตว์

จากความพยายามในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ไข่” แหล่งโปรตีนราคาถูก ที่มีสารอาหารและไข่ขาวยังมีโปรตีนไลโซไซม์ (Lysozyme) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจากคุณสมบัติดังกล่าวทีมนักวิจัย ในศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงได้นำไลโซไซม์มาผลิตเป็นสารกันบูดจากธรรมชาติ

สารต้านจากธรรมชาติ

วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร กล่าวว่า ตามธรรมชาติไลโซไซม์จากไข่ขาวของไก่มีความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแบคทีเรียในกลุ่มแบคทีเรียแลคติกได้ดีกว่าแบคทีเรียแกรมลบ และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ

ทำให้ทีมวิจัยสามารถพัฒนาไลโซไซม์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ดีขึ้นทั้งแกรมบวกและแกรมลบ จึงออกฤทธิ์ครอบคลุมแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งแบคทีเรียก่อโรคที่มีความสำคัญในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์

ผลงานวิจัยดังกล่าวนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์ประสิทธิภาพสูง ภายใต้ชื่อทางการค้า eLysozymeTM(eLYS-T1) สำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหาร และ eLysozymeTM(eLYS-T2) สำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหารสัตว์ ภายใต้การดูแลของบริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ถ่ายทดเทคโนโลยี และบริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด ทำหน้าที่ผลิต

โดยได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และหน่ายในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ทางบริษัทกำลังติดตั้งเครื่องจักรสำหรับผลิตในโรงงานผลิตมูลค่า 100 ล้านบาทและมีแผนทดลองผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาวสำหรับอาหารสัตว์ เริ่มจากฟาร์มกุ้งก่อน

หลังจากนั้นจะขยายมาสู่มาตรฐานอาหารคน โดยได้ทดลองกับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น และชีส ทั้งเนื่องจากบริษัท ดีเอ็มเอฟ มีเครือข่ายอยู่ในประเทศโปแลนด์ จึงพร้อมที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะไลโซไซม์ ถือเป็นสารกันบูดจากธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก(WHO) และหลายๆ ประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ถึงความปลอดภัยในการบริโภค และได้รับอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และการบำบัดรักษาบางประเภท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสูตร

“จุดเด่นของไลโซไซม์ที่พัฒนาขึ้นคือมีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียสูงจึงใช้ในปริมาณน้อย ซึ่งในต่างประเทศยังไม่มีจึงเป็นโอกาสและช่องว่างที่ดีในการทำตลาด หลังจากที่ทีมวิจัยไบโอเทคร่วมกับนักวิจัยดีเอ็มเอฟพัฒนาไลโซไซม์ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา”

สร้างมูลเพิ่มไข่ 8 เท่าตัว

วรรณพ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จเร็ว เนื่องจากผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ และเมื่อขยายกระบวนการผลิตก็มีความพร้อมในการทุนเพื่อผลิตสินค้าออกมาสู่เชิงพาณิชย์ จนกลายเป็นบริษัทที่มีความล้ำหน้าในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับไข่ในระดับโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องไข่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นโชว์รูมนานาชาติสำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไข่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจสามารถเข้ามาดูและซื้อไลเซนส์เทคโนโลยี เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจไข่แบบครบวงจร

ในอนาคตผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์ (eLYS-T1) จะเป็นสารสำคัญที่นำมาพัฒนาต่อยอดสูตรสำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหารประเภทต่างๆ ที่ใช้สูตรแตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณเมื่อนำไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 2.50 บาทหนึ่งฟองแยกเป็นส่วนผสมครบวงจร จะสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้ 20.5 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8 เท่าจากการแยกองค์ประกอบส่วนต่างๆไปใช้งานตามเป้าหมายที่วางไว้ เฉพาะตัวผงไลโซไซม์สำหรับทำอาหารสัตว์ ราคาจะอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อกิโลกรัม

“วิธีการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับมูลค่าไข่ไก่ด้วยการทำให้เป็นอินกรีเดียนท์ สำคัญในการเพิ่มคุณค่าหรือคุณสมบัติพิเศษให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆที่ทำมาจากโปรตีนธรรมชาติที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศและกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ จากการคำนวณผลตอบแทนจากอินกรีเดียนท์ พบว่าสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 100 ล้านบาทใน 5 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซกเมนต์ไหนด้วย” วรรณพกล่าว