DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

กำไรหลักไตรมาส 4/61 เติบโตอลังการ; กลับมาทวงส่วนแบ่งตลาดคืนในปีนี้

จากการที่ DTAC มีคลื่นความถี่ทั้งต่ำและสูงอยู่ในมือ ณ ปัจจุบันรวมถึงโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซที่จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และคุณภาพโครงข่ายและภาพลักษณ์ของแบรนด์ DTAC ที่ดูดีขึ้น เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ DTAC จะเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการและกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้บริการจากคู่แข่งในปี 2562 เรายังคงเลือกหุ้น DTAC เป็นหุ้นสำหรับการลงทุนอันดับแรกในกลุ่มไอซีที เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้บริการ และกำไรหลักที่จะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2562 ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันซื้อขายที่อัตราส่วน EV/EBITDA ที่ 5.5 เท่าในปี 2562 (เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.8 เท่า)

สรุปผลประกอบการไตรมาส 4/61—กำไรหลักสูงกว่าคาดอย่างมาก

DTAC รายงานขาดทุนสุทธิไตรมาส 4/61 ที่ 4.94 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 542 ล้านบาทในไตรมาส 4/60 และขาดทุนเพิ่มขึ้น 436% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษหลักซึ่งได้แก่ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 34 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการยุติข้อพิพาทด้านคดีความกับกสท.หลังหักภาษีจานวน 6.48 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาชั่วคราวหลังหักภาษี จำนวน 378 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงต้นทุนด้านกฎระเบียบหลังจากสิ้นสุดสัมปทานหลังหักภาษีจำนวน 152 ล้านบาท กำไรหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 296% YoY และเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าเทียบกับกำไรหลักไตรมาส 3/61 ที่ 1 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่ำกว่าคาด 30% ในขณะที่กำไรหลักสูงกว่าคาดมากถึง 96% เนื่องจากต้นทุนบริการ (ต้นทุนด้านกฎระเบียบ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ต่ำกว่าคาด เราเห็นจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิติดลบน้อยที่สุดในรอบสามปีในไตรมาสนี้ (-97,000 รายในไตรมาส 4/61 เทียบกับ -313,000 ในไตรมาส 3/61) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหน้าที่ 4

หันมาให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตและประสิทธิภาพด้านการบริหารงานในปี 2562

บริษัทตั้งเป้างบของเงินลงทุนที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท (รวมงบลงทุนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซเข้าไปแล้ว) สำหรับในปี 2562 ลดลงจาก 1.95 หมื่นล้านบาทในปี 2561 บริษัทจะทำการเปิดเผยตัวเลขเป้าผลการดำเนินงานอื่นๆ ที่เหลือหลังจากผลประกอบการงบไตรมาส 2/62 ประกาศออกมา นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้ากลับไปสู่แผนการเติบโตและการขยายจำนวนผู้ใช้บริการและเพิ่มรายได้ในปี 2562 อีกครั้ง โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงโครงข่าย สร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ DTAC และหันมาเน้นบริการและโปรโมชั่นที่ให้กับลูกค้าโดยใช้ลูกค้าเป็นตัวตั้งต้นให้มากขึ้นและการมุ่งเน้นในระยะยาวสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งนี้การลงโครงข่ายคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซในไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปในเชิงรุกอย่างมาก โดยสถานีฐาน 2.3 กิกะเฮิร์ซเพิ่มขึ้นไปเป็น12,685 แห่ง ณ สิ้นเดือนธ.ค. เทียบกับ 5,931 แห่ง ณ สิ้นเดือนก.ย. และคาดว่าจะเป็นไปในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

ดังนั้น เราจึงคาดว่าจะเห็นจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวจากการเรียกเก็บเงินบริการดาต้าได้เพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป (ถึงแม้ว่าจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากแพ็กเกจ ‘ความเร็วต่ำไม่จำกัดการใช้งาน’ ของระบบพรีเพดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม) เราประมาณการรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโต 1.5% ในปี 2562

ไม่สนใจประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ซ; ปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม

ผู้บริหารของ DTAC กล่าวอย่างชัดเจนว่า DTAC ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2562 เนื่องจากเพิ่งเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซและคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซไปในปี 2561 ที่ผ่านมาก DTAC จะทำการเร่งลงโครงข่าย 2.3 กิกะเฮิร์ซให้มากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งเรามองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สำหรับบริษัทในการสร้างรายได้ในรูปตัวเงินจากอัตราการใช้งานของบริการดาต้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต เราทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 12% (มาอยู่ที่ 5.03 พันล้านบาท) และปรับประมาณการกำไรหลักปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 13% (มาอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนต้นทุนด้านกฎระเบียบ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการทั่วไป) เราทำการปรับราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF เพิ่มขึ้นอีก 6% (ไปอยู่ที่ 55 บาท)