ชาวบ้าน 'ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี' รุมค้านตั้งศูนย์ไอซีดี-นิคมฯ

ชาวบ้าน 'ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี' รุมค้านตั้งศูนย์ไอซีดี-นิคมฯ

ชุมชน 3 พื้นที่ในฉะเชิงเทรา-ชลบุรี คัดค้านสร้างศูนย์ไอซีดีฉะเชิงเทรา นิคมฯอมตะชลบุรี นิคมฯบลูเท็ค เผยขวางทางน้ำ ซ้ำเติมชาวบ้านน้ำท่วมหนัก กระทบอาชีพเพาะเลี้ยงประมง ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐาน

แนะเอกชนกันพื้นที่ 10% ให้ชาวบ้านอยู่ที่เดิม สกพอ.ยืนยันหากชาวบ้านไม่เห็นด้วยก่อสร้างไม่ได้

การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เห็นการคัดการเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาชี้แจงว่าต้องมีการดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.ได้รับการร้องเรียนจากชุมชนในจ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เกี่ยวกับการพัฒนา 3 โครงการ คือ 1.โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ของกระทรวงคมนาคม 2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเท็ค ฉะเชิงเทรา ซึ่งการผลักดันจะต้องดำเนินตามกระบวนกฎหมาย โดยขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และถ้ามีเสียงของประชาชนยืนยันว่ามีผลกระทบก็จะเดินหน้าไม่ได้

ชาวบ้าน \'ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี\' รุมค้านตั้งศูนย์ไอซีดี-นิคมฯ

3.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โครงการ 2 พื้นที่ 6,000 ไร่ โดยที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมในต้นปี 2553 ซึ่งประกาศก่อนที่จะกำหนดผังเมืองรวม และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

นายกฯย้ำดูแลประชาชน

ทั้งนี้ ต่อมาปลายปี 2553 ได้กำหนดผังเมืองออกมาในพื้นที่ดังกล่าวเป็นสีเขียว ซึ่งทำให้กระบวนการทำอีไอเอต้องหยุดหมด และอยู่ในระหว่างการแก้ไขผังเมือง แต่หลังจากมีการพัฒนาอีอีซีทำให้ต้องร่างผังเมืองรวมอีอีซีใหม่ ซึ่งถือว่ายังเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ ดังนั้นชุมชนในพื้นที่ต้องเข้าร่วมการรับฟังข้อคิดเห็น และนำเหตุผลมาคัดค้านในขั้นตอนนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการดูแลชาวบ้านในอีอีซี ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้นขอให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เข้าร่วมประชาพิจารณ์โครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาในชุมชน หากไม่เห็นด้วยโครงการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ โดย สกพอ.รับข้อร้องเรียนของชุมชนเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไข”

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้หารือกับชุมชนที่เกี่ยวข้อง 3 ชุมชน เพื่อรวบรวมปัญหาและยื่นคัดค้านต่อ สกพอ.ให้เพิกถอนการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 ชุมชน คือ 1.ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 2.ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 3.อ.พานทอง จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ทำกินของชาวบ้านมานาน หากปล่อยให้เอกชนเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรม ก็จะกระทบวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องการย้ายบ้านเรื่อง และที่ดินทำกิน ปัญหาสังคมต่างๆที่จะตามมา เพราะจะมีแรงงานจำนวนมากเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหายาเสพติด และอาชญากรรม

ห่วงนิคมฯขวางทางระบายน้ำ

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีจะมีผู้ได้ประโยชน์บางส่วน และมีผู้เสียประโยชน์อีกบางส่วน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแลประชาชนให้มั่นใจว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ และหากมีผลกระทบก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้ามากว้านซื้อที่ดินที่ต.เขาดิน และอ.บ้านโพธิ์ทำ ให้ชาวบ้านยิ่งมีความกังวลใจ

ส่วนต.พานทอง จ.ชลบุรี มีนักลงทุนเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ขวางทางระบายน้ำ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม และในอนาคตหากก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วเสร็จก็จะเสี่ยงกับปัญหาน้ำเสียตามมา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากสุดท้ายผังเมืองอีอีซี ออกมา มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวในบริเวณนี้ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ก็จะฟ้องร้องศาลปกครองให้เพิกถอนผังเมืองนี้ เพราะเป็นผังเมืองที่ชาวบ้านคัดค้าน และกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องตอบให้ได้ว่ามีเหตุผลอะไร ที่อนุญาตให้พื้นที่น้ำท่วมตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ยืนยันว่าทั้ง 3 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่น้ำท่วม

ชงกันที่ดินให้ชุมชน10%

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากจะให้อีอีซีและชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้ รัฐบาลควรกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาพิเศษที่มีการกว้านซื้อในพื้นที่ จะต้องกันที่ดินไม่ต่ำกว่า 10% เพื่อให้ชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม และบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวด เพื่อให้ชาวบ้านไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่

นายจงกล วิชาจารย์ ผู้ประสานงานชุมชนต.พานทอง จ.ชลบุรี กล่าวว่า รัฐควรมีข้อมูลพัฒนาพื้นที่รอบด้าน โดยในพื้นที่ 3 ชุมชน ที่ยื่นร้องเรียนสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นพื้นที่รองรับลำน้ำ 3 สาย ได้แก่ 1.ลำน้ำแควระบมสียัด ซึ่งมีทางน้ำผ่านอ.บางคล้า มาที่ต.บ้านโพธิ์ และไหลลงแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งผ่านชุมชนหนองตีนนก และอ.พานทอง

2.ลำน้ำคลองหลวง ซึ่งไหลมาจากเขาเขียว อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผ่านอ.พนัสนิคม อ.พานทอง และไหลผ่านชุมชนหนองตีนนก 3.ลำน้ำคลองปลวกแดง จ.ระยอง มาสมทบที่อ.พนัสนิคม รวมกับลุ่มน้ำคลองหลวง

แนะย้ายพื้นที่สร้างไอซีดี

นายจงกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่อ.พานทอง ในภาวะปกติก็มีน้ำท่วมทุกปีสูง 50 เซนติเมตร หากปีไหนฝนตกหนักก็ท่วมถึง 1-1.5 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่หากรัฐบาลจะทำไอซีดีบริเวณบ้านโพธิ์ หรือพานทองนี้ ก็จะต้องถมดินไม่ต่ำกว่า 2 เมตร บนพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ จะต้องใช้เงินลงทุนหมาศาล และยิ่งทำให้ภาวะน้ำท่วมหนักขึ้นไปอีก กระทบชาวบ้านที่ทำการเกษตรบ่อเลี้ยงปลา และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ ทำให้ทำมาหากินไม่ได้ รวมทั้งชาวบ้านจะต้องเดือดร้อนย้ายไปหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่

“อยากให้รัฐบาลไปพัฒนาพื้นที่ในทิศตะวันออกห่างจากพื้นที่เป้าหมายเดิมไปอีก 5 กิโลเมตร บนถนนสาย 331 ซึ่งเป็นพื้นที่สูงไม่จำเป็นต้องถมดิน และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวมทั้งมีบ้านเรือนอยู่น้อย จึงเหมาะที่จะพัฒนาไอซีดีมากกว่า”