ประชามติปกครองตนเองสู่สันติภาพ ‘มินดาเนา’

ประชามติปกครองตนเองสู่สันติภาพ ‘มินดาเนา’

บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงบนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ มีมติเสียงข้างมากถล่มทลายเห็นชอบการตั้งเขตปกครองตนเองใหม่ ด้วยความหวังว่าจะนำมาซึ่งสันติภาพ หลังจากเผชิญกับการสู้รบที่คร่านับแสนชีวิตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาและทำให้ประชาชนในพื้นที่ยากจน

ผลการลงประชามติเมื่อวันศุกร์ (25 ม.ค.) จะเป็นการเริ่มกระบวนการให้กลุ่มกบฏติดอาวุธใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์อย่าง “แนวร่วมปลดแอกมุสลิมโมโร” (เอ็มไอแอลเอฟ) ทยอยปลดอาวุธและเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

การก่อกบฏซึ่งเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 70 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.5 แสนคน และมีเป้าหมายเพื่อกดดันรัฐบาลให้มอบอำนาจในการปกครองตนเองบนเกาะมินดาเนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

มูราด อิบราฮิม ประธานฝ่ายการเมืองของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ แสดงความยินดีต่อผลการลงประชามติที่สนับสนุนการตั้งเขตปกครองตนเองอย่างถล่มทลายและขณะนี้กองกำลังของเอ็มไอแอลเอฟวางอาวุธแล้ว 1 ใน 3 จากทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 30,000 คน

“เรามีความสุขมากกับพลังสนับสนุนอย่างล้นหลามของประชาชน” อิบราฮิมเผยกับเอเอฟพี และว่า “นับเป็นผลคะแนนที่ถล่มทลาย ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน”

คณะกรรมการการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ ประกาศผลการลงประชามติที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (21 ม.ค.) ปรากฏว่า แผนการกำหนดอาณาเขตส่วนหนึ่งของเกาะมินดาเนาให้มีเป็น “เขตปกครองตนเองบังซาโมโร”บนเกาะมินดาเนาได้รับเสียงสนับสนุนราว 1.7 ล้านเสียง และมีผู้คัดค้านราว 2.54 แสนเสียง ถือเป็นการปูทางไปสู่กระบวนการเปลี่ยนถ่ายนาน 3 ปีเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่จะเลือกผู้บริหารต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมืองอีซาเบลาของจ.บาซีลัน จะไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองแห่งใหม่นี้ เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน แต่จ.โคตาบาโต ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านไม่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองมินดาเนา จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองบังซาโมโรด้วย หลังเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน

การลงประชามติครั้งนี้เป็นผลจากการที่รัฐบาลหลายชุดและกลุ่มแยกดินแดนพยายามเจรจาสันติภาพกันมานาน เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษทำให้พื้นที่เหล่านี้มีอัตราว่างงานสูง เยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือ เปิดช่องให้กลุ่มโจรและกลุ่มสุดโต่งเข้ามาฉวยโอกาสยุยงคนในพื้นที่ให้ต่อต้านรัฐบาล

เขตบริหารใหม่ชื่อบังซาโมโร ซึ่งแปลว่า ประเทศของชาวโมโรจะมีอำนาจมากขึ้นในการหารายได้และลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียน สาธารณสุขและสวัสดิการสังคมให้แก่คนในเขตราว 5 ล้านคน โดยหลังจากนี้ จะมีการลงประชามติอีกครั้งในวันที่ 6 ก.พ.เพื่อสอบถามคนพื้นที่อื่นบนเกาะมินดาเนาว่าต้องการเข้าร่วมเขตนี้หรือไม่

ขณะที่รัฐบาลกลางจะดูแลด้านกลาโหม ความมั่นคง การต่างประเทศ การเงิน และจะแต่งตั้งคณะบริหารชั่วคราวที่เสนอชื่อโดยแนวร่วมเอ็มไอแอลเอฟในเร็ว ๆ นี้

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งเป็นชาวเกาะมินดาเนาแต่กำเนิด สนับสนุนแนวคิดการสถาปนาเขตปกครองตนเองบังซาโมโรอยู่แล้ว เพื่อหวังว่าจะช่วยยุติการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 4 ทศวรรษโดยเขาผลักดันให้สภาคองเกรสลงมติรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว หลังรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้าใช้เวลาเจรจากับเอ็มไอแอลเอฟนานถึง 10 ปี จนลงนามกันได้เมื่อปี 2557

ขณะที่เอ็มไอแอลเอฟได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น หลังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์ ต่อสู้ขับไล่กองกำลังฝักใฝ่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ให้ออกจากเมืองมาราวี บนเกาะมินดาเนา เมื่อช่วงกลางปี 2560

กระบวนการขั้นแรกในการกระจายอำนาจให้แก่เขตปกครองตนเองบังซาโมโรตามกฎหมายใหม่ รวมไปถึงการที่รัฐบาลกลางจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาบังซาโมโรในวงเงิน 950 ล้านดอลลาร์ภายใน10 ปีข้างหน้า

ภายใน 5 ปีนี้ สถานะของเขตปกครองตนเองบังซาโมโรจะได้รับการยอมรับ และรัฐบาลกลางจะยังเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงในพื้นที่ จนกว่าคณะผู้บริหารเขตปกครองตนเองแห่งใหม่จะมีระบบจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ