กรมศุลฯแจงกรณีการนำเข้าหน้ากากกันฝุ่น

กรมศุลฯแจงกรณีการนำเข้าหน้ากากกันฝุ่น

โวยกระหึ่มโซเชียล! กรมศุลฯแจงกรณีการนำเข้าหน้ากากกันฝุ่น

กรมศุลกากร ชี้แจง กรณีการนำเข้าหน้ากากกันฝุ่น กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งโพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 รายงานความคืบหน้าเรื่องการนำเข้าหน้ากากกันฝุ่นพิษที่ติดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์

กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบแล้ว ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ดังนี้

กรณีเป็นการนำเข้าภายใต้ชื่อ บริษัท ALKA Link จำกัด จำนวน 2 ใบตราส่ง คือใบตราส่งเลขที่ 1Z2137YR0427529638 สำแดง Kids Anti-Pollution Mask with Activated Carbon N95 และใบตราส่งเลขที่ 1Z6309WA0457397892 สำแดง 3M 8511 P B1-A-P S Particulate N95 นำเข้าทางอากาศยาน Flight 5X015 วันที่ 25 มกราคม 2562 โดยใช้ บริษัท UPS Parcel Delivery Service จำกัด เป็นตัวแทนออกของและปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จากการตรวจสอบ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร ยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้นำเข้าหรือตัวแทน (บริษัท UPS Parcel Delivery Service จำกัด) เพื่อขอปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด ประกอบกับการสำแดงรายละเอียดสินค้าในใบตราส่งข้างต้นระบุว่า เป็นหน้ากากอนามัย N95 เข้าข่ายลักษณะหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ภายใต้บัญชีสินค้าควบคุมเครื่องมือแพทย์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฉะนั้น หน้ากากอนามัย N95 จึงเป็นของต้องกำกัด


ที่ต้องได้รับอนุญาตจากด่านสำนักงานอาหารและยาก่อนการนำเข้าเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์การอนุญาตการนำเข้าและการผ่อนปรนต่าง ๆ จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์เป็นผู้ประกาศกำหนด โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ภาพอิเล็กทรอนิกส์เมลที่ลงใน Facebook นั้น เป็นเมลที่ส่งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัท UPS Parcel Delivery Service จำกัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากรแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ถึงขั้นตอนของการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร และสินค้าดังกล่าวยังถูกเก็บรักษาในพื้นที่คลังสินค้าภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าต้องกำกัดหรือสินค้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมการนำเข้าของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเข้าต้องติดต่อลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 64/2561 และสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนออกของที่ได้รับอนุญาตดำเนินการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรแทนได้ รวมถึงการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใบอนุญาตในการนำเข้าด้วย

"ของต้องกำกัด" หมายความว่า ของที่มีกฎหมายกำหนดว่า หากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไป นอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร จะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนด ไว้ในกฎหมาย