ไทยใช้หลักสูตรอังกฤษ 'บีทีอีซี' ยกระดับแรงงานรับ 'อีอีซี'

ไทยใช้หลักสูตรอังกฤษ 'บีทีอีซี' ยกระดับแรงงานรับ 'อีอีซี'

ส.อ.ท.เผยไทยจับมือรัฐบาลอังกฤษทำหลักสูตร BTEC ยกระดับบุคลากรอาชีวะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำร่อง 40 สถาบันการศึกษา คาดปลายปีมีเข้าร่วมอีกกว่า 100 แห่ง ผลิตแรงงานป้อนอีอีซี ได้ทันกับความต้องการกว่า 1.2 หมื่นคน

พร้อมเปิดรับแรงงานระดับปริญญาตรีกว่า 1.7 แสนคนที่เสี่ยงตกงาน มาปรับทักษะ ให้ตรงความต้องการในอีอีซี

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสภา​สถาบัน​การ​อาชีวศึกษา​ภาค​ตะวันออก​เฉียง​เหนือ​ 2 เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้

โดยเฉพาะแรงงานระดับอาชีวะที่ประเมินว่าในอีอีซี มีความต้องการแรงงานระดับอาชีวะเพิ่มขึ้นถึง 12,400 คน แต่สถาบันอาชีวะทั้งหมดภายใน อีอีซี ผลิตได้เพียงปีละพันกว่าคน ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการของ อีอีซี ที่จะเกิดขึ้นเต็มที่ภายใน 5 ปี

นายพงษ์เดช กล่าวว่า รัฐบาลไทยจึงได้ประสานกับรัฐบาลประเทศอังกฤษให้สนับสนุนไทยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลอังกฤษมอบหมายให้บริษัท เพียร์สัน ซึ่งเป็นองค์กรการจัดการการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศอังกฤษ จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (สกพอ.) เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอาชีวะเร่งการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการรองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

ไทยใช้หลักสูตรอังกฤษ 'บีทีอีซี' ยกระดับแรงงานรับ 'อีอีซี'

ทั้งนี้ เพียร์สัน มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนที่จะนำแนวทางของการพัฒนาสมรรถนะแบบ BTEC (Business Technology Education Council) เข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมใน ซึ่งระบบ BTEC ถือเป็นมาตรฐานของหลักสูตรอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลก

รองรับ10อุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายพงษ์เดช กล่าวว่า บริษัทเพียร์สัน มีหลักสูตรการฝึกอบรมอาชีวศึกษากว่า 5 พันหลักสูตร ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยหลักสูตรของ BTEC จะไม่เน้นการสอบ การท่องจำ แต่จะเน้นการฝึกปฏิบัติงานจากเครื่องมือจริง นำตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้นักศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ผ่านการฝึกและการแนะนำจากครูฝึกที่เชี่ยวชาญ จึงทำให้นักศึกษาอาชีวะ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. ที่ผ่านหลักสูตรนี้ สามารถนำไปใช้ได้จริงในโรงงาน และภาคธุรกิจบริการต่างๆ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำประกาศนียบัตรที่ผ่านหลักสูตร BTEC ระดับ 5 ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก 250 แห่ง ใน 70 ประเทศ ได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบเข้า เพราะเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศให้การยอมรับ

นอกจากนี้ หลักสูตร BTEC ของเพียร์สัน ยังช่วยในการปรับปรุงทักษะแรงงานที่จบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีในด้านที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ให้มีทักษาเพื่อเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายของรัฐบาลได้ซึ่งจากตัวเลขสถิติพบว่ามีนักศึกษาที่จบการศึกษาปริญญาตรีในปีที่แล้วตกงานประมาณ 1.7 แสนคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ สามารถเข้ามาปรับปรุงทักษะให้ตรงตามที่ภาคธุรกิจต้องการ เช่น ผู้ที่จบการศึกษาด้านการตลาด สามารถไปเรียนหลักสูตร BTEC ด้านการโรงแรมในสถาบันอาชีวะ หรือมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นเวลา 3-6 เดือน สามารถนำวุฒิบัตรไปสมัครงานโรงแรมต่างๆ ได้ เพราะเป็นมาตรฐานระดับโลก

ขยายพื้นที่อบรมนอกอีอีซี

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มี วิทยาลัยอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษา 30 แห่ง และมหาวิทยาลัย 10 แห่ง รวมเป็น 40 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว คาดว่าภายในปี 2562 จะมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง และจะกระจายไปให้ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของ อีอีซี ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณ โดยทาง เพียร์สัน จะส่งบุคลากรมาประเมินสถานถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งในเรื่องของสถานที่ และเครื่องไม้เครื่องมือ และฝึกอบรมบุคลากรครูของไทย มีกระบวนการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด เพื่อให้ผลิตบุคลากรได้ตรงตามมาตรฐาน

“ความต้องการแรงงานอาชีวะในพื้นที่ อีอีซี มีสูงมาก โดยเฉพาะบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve เช่น อากาศยาน หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องเร่งทั้ง Reskill และ Upskill หรือปรับปรุงทักษะแรงงานใหม่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งความร่วมมือกับ เพียร์สัน จะเป็นทางลัดในการผลิตบุคลากรป้อนให้กับ อีอีซี และยกระดับไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ทั้งประเทศ”

ร่วมมือญี่ปุ่นพัฒนาบุคลากร

นายพงษ์เดช กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรของไทยก็ยังมีข่าวดี โดยทราบว่า สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมกับ AMEICC หรือ AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee และ The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) ประเทศญี่ปุ่น ได้ฝึกอบรมให้กับประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้ไทยเป็นฐานการฝึกอบรมและใช้ครูไทย เช่น หลักสูตร “Factory Maintenance Course-Electric Relay & Programing” (Basic Level) เพื่อไปฝึกอบรมสร้างบุคลากรเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เมียนมาและกัมพูชา

“ในตอนนี้ ประเทศญี่ปุ่นโดย AOTS ได้มองเห็นศักยภาพ และเชื่อมั่นในองค์กรไทย และบุคลากรของไทยที่พัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะต่างๆ หน่วยงานไทยมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้กับอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนได้แล้ว ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในไทยนั้นไม่ได้มีแค่ถ่ายทอดในประเทศเท่านั้น ยังสามารถถ่ายทอดในลักษณะเดียวกันให้กับผู้เข้าอบรมจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมัน เนื่องจากมีเทคโนโลยีขั้นสูง, วิทยากรก็มีทักษะและความรู้, มีหลักสูตรที่หลากหลาย และจุดแข็งของสถาบันไทย-เยอรมันนั้นก็คือมีอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรม จึงเป็นลักษณะ On the Job Training ได้ ซึ่งหน่วยงานฝึกอบรมทั่วไปไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรม

สำหรับจุดเด่นของการฝึกอบรมของสถาบันไทย-เยอรมัน จะทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจง่าย และสามารถนำสิ่งที่เรียนกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ การที่ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติจะทำให้ไม่น่าเบื่อ และมีความต้องการฝึกอบรมมากขึ้น อีกทั้งหลักสูตรนี้สามารถเป็นต้นแบบสำหรับอบรมวิศวกร หรือ ช่างเทคนิค ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้อีกด้วย และ AOTS ก็มีแผนที่จะนำผู้เข้าอบรมจากลาวและเมียนมา มาอบรมที่ไทยในอนาคต