ก.แรงงาน-การท่าเรือฯ ผลึกกำลังยกระดับฝีมือแรงงานป้อนอุตฯขนส่ง

ก.แรงงาน-การท่าเรือฯ ผลึกกำลังยกระดับฝีมือแรงงานป้อนอุตฯขนส่ง

ก.แรงงาน จับมือการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผลึกกำลังยกระดับฝีมือแรงงาน ป้อนอุตสาหกรรมขนส่งระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารสำนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรและกำลังแรงงาน ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และร้อยตำรวจมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังจากเป็นประธานสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือดังกล่าว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีกำลังแรงงานมากกว่า 2.85 ล้านคน ซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านการขนส่ง การผลิตสินค้า การบริการของประเทศ และการกระจายสินค้าถึงผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการขนส่ง ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีน กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนพัฒนากำลังแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) มีศักยภาพเพียงพอต่อการส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศทั้งในเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ใช้แนวทางประชารัฐสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนาศักยภาพแรงงาน รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังคนร่วมกับกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยด้านโลจิสติกส์ระยะเวลา 5 ปี ในพื้นที่การท่าเรือ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนอง เป้าหมายดำเนินการปีละ 1,000 คน เบื้องต้นร่วมกันจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรของการท่าเรือแห่งประเทศ ที่ศูนย์ฝึกอบรมขับใช้เครื่องมือทุ่นแรง (Simulator Center) หลักสูตรทิศทางการดำเนินการธุรกิจท่าเรือในอนาคต การพัฒนาระบบงาน Logistic ทบทวนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับปั้นจั่น การขับใช้รถยกตู้สินค้า มีผู้เข้ารับฝึกอบรมจำนวน 128 คน

นอกจากนี้ มีความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานฝีมือแรงงานสำหรับสาขาต่างๆ ที่มีความต้องการในอนาคต เพื่อให้บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับท่าเรือและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีองค์ความรู้และพร้อมที่จะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้ วิทยากร เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่นๆ ในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะสูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต