“นานมี”ทรานส์ฟอร์มสิ่งพิมพ์ รุกสร้าง “Active Citizen”

“นานมี”ทรานส์ฟอร์มสิ่งพิมพ์ รุกสร้าง “Active Citizen”

โลกดิจิทัลกลืนสื่อเก่าล้มหายตามวัฎจักรโลกเปลี่ยน ทว่าอาณาจักรธุรกิจ“นานมี”27 ปีโตมากับสิ่งพิมพ์ สื่อเก่าแต่ปัจจุบันยังรอดพ้นดิสรัป ส่งต่อธุรกิจสู่ทายาทรุ่นสาม ทรานส์ฟอร์มสู่ “ผู้ให้บริการการเรียนรู้” ปลุกพลเมืองทุกเพศทุกวัยเป็น“Active Citizen”

ยุคดิจิทัลทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อคนยุคนี้วนอยู่กับสื่อใหม่ ผ่านหน้าจอทัชสกรีน มากกว่าการเติมเต็มความรู้จากหนังสือ ที่ถูกมองว่าเป็นสื่อเก่า (Old Media) ทำให้ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ พาเหรดปิดตัวหลายสำนัก 

แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจ “นานมีบุ๊คส์ สื่อสิ่งพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือชื่อดังจากทั่วทุกทวีปกว่า 5,000 ปก ก่อตั้งธุรกิจมา 27 ปี กลับไม่ถูกดิสรัปจากสื่อใหม่ ตรงกันข้ามตลอดเวลา 7-8 ปีที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพล “นานมี”ยังคงเติบโตทุกปี

ผ่านมุมมองของ "คิม จงสถิตย์วัฒนา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ทายาทรุ่น 3 ซึ่งทำงานในบริษัทมากกว่า 13 ปี กระทั่งรับไม้ต่อจากแม่ (สุวดี จงสถิตย์วัฒนา) ขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ เผยสูตรป้องกันสื่อใหม่ดีสรัปว่า เกิดจากการเปลี่ยนผ่าธุรกิจ(Transform) จากสำนักพิมพ์ มาสู่ "ผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้" (Learning Service provider) โดยเห็นว่าคนยุคปัจจุบันต้องเป็นพลเมืองใฝ่รู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต (Active Citizen) จึงจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพรับยุคดิจิทัล กลายเป็น“โอกาส”ของธุรกิจใหม่นี้

โดยเธอระบุว่า ในอนาคตรายได้หมวดสิ่งพิมพ์จะค่อยๆลง จากปัจจุบันแม้จะยังคงเป็นรายได้หลักสัดส่วน 75% ของรายได้ทั้งหมดที่ 500 ล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อนหน้า(2560) ที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 85%

คิมยังเล่าว่า ในปี 2561 ได้จัดกลุ่มธุรกิจใหม่ (Diversify) หลากหลายเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ธุรกิจสิ่งพิมพ์ 2.บริการด้านการเรียนรู้ (Learning Center) จากช่วยเยาวชน ทำขยายไปสู่การจัดอบรม สัมมนา และสร้างทีมงาน (Team building)

3.การสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างครบวงจร (Learning Solution) จากกิจกรรมที่เข้าไปรับอบรมครูต่อยอดจากขายหนังสือต่อยอดมาสู่การบริการ สร้างระบบการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ดีขึ้น เช่น ระบบติวเตอร์ออนไลน์ แสวงหาความรู้จากต่างประเทศโดยตั้งบริษัท ชื่อ กักเคน เอดูเคชั่นแนล จำกัด สอนวิทยาศาสตร์จากการคิดลงมือทำเอง

4.ศูนย์เรียนรู้ (Learning Space) ใช้พื้นที่โรงแรม “Rain Tree Residence” ซึ่งกลุ่มธุรกิจไปพัฒนาที่เขาใหญ่ บ้านซับใต้ ต.ดงพญาเย็น อ.ปากช่อง เป็นศูนย์การรองรับการเรียนรู้ จัดอบรม และค่าย

หลังจากจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ชัดเจน ยังบริหารธุรกิจผ่าน 4 ช่องทางการตลาด คือ 

1.ออนไลน์ และออฟไลน์ (Omni Channel) ขายหนังสือผ่านทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ โดยเข้าไปเป็นพันธมิตรวางแผนคู่กับร้านขายหนังสือ ท่ามกลางร้านที่ปิดสาขาต่อเนื่อง แม้แต่ร้านขายหนังสือแว่นแก้ว ของสำนักพิมพ์ที่เคยมีอยู่ 7 สาขา ตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว 4 สาขาเหลือ3 สาขา

2.องค์กร และมูลนิธิ (Corporate & Foundation) โดยการตั้งกลุ่มธุรกิจใหม่ รับหน้าที่ทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และ บริการด้านการตลาด คุณค่าของการสะสมลิขสิทธิ์หนังสือทั่วโลกหลายพันปก มีเนื้อหาหลากหลาย บวกกับการมีเครือข่ายโรงเรียนที่เข้าไปทำงานมายาวนานกว่า 4 หมื่นโรงเรียน จึงทำหน้าที่เชื่อมต่อบริษัทที่ต้องการทำการตลาด เข้าถึงสถาบันการศึกษา และนักเรียน

“คอนเทนท์สะสมหลากหลาย นำมาจัดกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมต่อกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) 17 ข้อ อาทิ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ช่วยดึงทุนจากองค์กรให้บางโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และต้องการยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน โดยไม่ต้องรองบภาครัฐ”

คิมยังยกตัวอย่างกิจกรรมในปีที่ผ่านมาว่า ช่วยจัดกิจกรรมให้กับองค์กรธุรกิจกว่า 20 บริษัท เช่น บริษัท ไทยวาโก้ จัดกิจกรรมในโรงเรียน เช่น สอนเพศศึกษา และสอนวิธีเลือกยกทรง รวมไปถึงการช่วยทำให้เด็กไทยรู้จักการคิดวิเคราะห์ โดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบสเต็ม (4 สหวิทยาการ) ร่วมกับมูลนิธิโรตารี่ดึงเด็กและเยาวชนที่ได้ทุนจากสโมสร อบรมวิธีการเรียนรู้แบบคิดวิเคราะห์

นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับชุมชน ร่วมกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. (CCF) เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ชุมชนรู้คุณค่าของเงิน ไม่ฟุ่มเฟือย โดยนำเด็กที่ได้รับทุนจากมูลนิธิ CCF ไปอบรมภาวะผู้นำ เพื่อกลับไปให้ความรู้กับชุมชน

“ธุรกิจกลุ่มนี้เพิ่งเริ่มเปิดตัวในปีนี้อย่างชัดเจน เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตเท่าตัว จึงต้องการจะบุกคอร์ปอเรท โดยที่เตรียมทีมงานพร้อมรองรับการทำกิจกรรมแล้ว” คิมเล่า

3.การพัฒนาอบรม(Training)เติมเต็มทักษะให้องค์กร เพราะทุกองค์กรเจอปัญหาต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ หลายองค์กรมีโมเดลธุรกิจใหม่ จึงต้องการคนที่มีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ และ สร้างทีมงาน

4.หนังสือออกแบบเฉพาะให้กับองค์กร (Customize Book) ทำหนังสือให้องค์กร

ทั้ง 4 ช่องทางการทำการตลาดเช่นนี้ เข้ามาเสริมกระบวนการเรียนรู้จากหนังสือให้แข็งแรง เชื่อมต่อตั้งแต่ทีมอบรม เอเยนซี โรงแรมเป็นศูนย์เรียนรู้และทุกกิจกรรมสอดแทรกหนังสือ เครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ “ธุรกิจสิ่งพิมพ์”ไม่มีวันตาย !

เธอย้ำว่า สิ่งที่ออกแบบ และสร้างสรรค์ธุรกิจขึ้นมาล้วนมาจาก โมเดลการบริหารรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)อยู่ในตัว ที่คืนกำไรไปสร้างสรรค์คุณค่าในกับสังคม โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาคนให้ก้าวไปสู่โลกยุคดิจิทัล

นี่จึงเป็นโมเดลที่ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวข้ามผ่านทุกยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะหนังสือ คือคำตอบของการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต ที่มีบทบาทในการพัฒนาชีวิตและทักษะ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี ต้องเป็น Active Citizen ที่เปี่ยมไปด้วย 7 ทักษะ คือ พลเมืองดีมีจริยธรรม ,รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา, สื่อสารมีประสิทธิภาพ, ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, มีภาวะผู้นำ, มีทักษะประกอบวิชาชีพ และสร้างสรรค์ ต่อยอด คิดนอกกรอบ