เปิด 4 เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ-รพ.บนโลกออนไลน์

เปิด 4 เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ-รพ.บนโลกออนไลน์

ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในธุรกิจสุขภาพ-รพ.บนโลกออนไลน์ พบพูดถึงรพ.เอกชนในแง่บริการมากสุด 60% “โรคหลอดเลือดสมอง” พุ่งอันดับ 1 "ฝุ่น" ทำคนพุ่งเป้าโรคภูมิแพ้ หัวใจ หอบเพิ่ม

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.62 นายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล CO-FOUNDER บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จัดทำผลการศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมผู้บริโภคในธุรกิจสุขภาพและโรงพยาบาล บนโลกออนไลน์: Online Customer Insight in Healthcare & Wellness” ในปี 2561 ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ผ่านการใช้เครื่องมือSocial Monitoring ที่ใช้ตรวจสอบวิเคราะห์ติดตามและประเมินผลพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ ใน 4 ประเด็นหลัก พบว่า 1.ธุรกิจโรงพยาบาล บนโลกออนไลน์พูดถึงโรงพยาบาลในแง่การให้บริการ (Service Issue) ครองสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ 54.94 % รองลงมาเป็นอื่นๆ อาทิ ร้องทุกข์, ร้องเรียน, หลอกลวง, ไร้จรรยาบรรณ, โฆษณาเกินจริง เป็นต้น 22.75 % สิ่งแวดล้อม 11.80 % ราคา 7.30 % ที่ตั้ง 1.72 % และสิ่งอำนวยความสะดวก 1.50 % ซึ่งอัตราการพูดถึงที่เพิ่มขึ้นมากสุดคือ ส่วนของอื่นๆที่เป็นการร้องทุกข์ การร้องเรียน คนหันไปพึ่งโลกออนไลน์มากขึ้นจาก 16% ในปี 2560 เป็น 22% ในปี 2561 ทำให้โรงพยาบาลเสียชื่อเสียงได้

2.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง( NCDs) การพูดถึง โรคหลอดเลือดสมอง มีการเติบโต ในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 111.42% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ โรคไตเรื้อรัง ได้รับการพูดถึงในอัตราที่เพิ่มขึ้นรองลงมาที่ 59.88%, 34.91% ตามลำดับ สาเหตุของการพูดถึงโรคหลอดเลือดสมองมากหขึ้นอาจเป็นผลจากกรณีที่มีกฎหมายห้ามไขมันทรานส์ สำหรับมิติแพคเกจการตรวจสุขภาพ มีการพูดถึงแพคเกจตรวจสุขภาพ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ถึง 233.33% ตามด้วยโรคไตเรื้อรัง มากขึ้น 163.76%และ โรคหลอดเลือดสมอง มากขึ้น 89.32% ซึ่งเมื่อการพูดถึงโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าการพูดถึงแพคเกจหรือโปรแกรมตรวจสุขภาพของโรคนั้นๆ จะสูงขึ้นตามในไตรมาสถัดไป ส่วนเมื่อพิจารณาการพูดถึง โรค NCDs กับรพ.รัฐและเอกชน พบว่าสังคมออนไลน์ให้ความสนใจกับ โรคมะเร็ง มาเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการพูดถึงสูงถึง 65 - 70% เมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ตามมาด้วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ ซึ่งสัดส่วนการพูดถึงโรคเหล่านี้ ของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉลี่ยคิดเป็น 85% ของโรค NCDs ทั้งหมด

3.ฝุ่น พบว่ามีโรคหรืออาการต่างๆ ที่ถูกพูดถึงควบคู่กับปัญหาฝุ่นละออง ควันพิษ หรือ PM 2.5 มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อประเมินความสัมพันธ์ของฝุ่นกับโรคที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ โรคภูมิแพ้, โรคหัวใจ, โรคหอบหืด, และโรคมะเร็งปอด ตามลำดับ ส่วนโรคหรืออาการที่มีสัดส่วนเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อมีการพูดถึงเรื่องฝุ่นคือ อวัยวะเพศไม่แข็ง และ4. ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ปี 2561ภาพรวมการพูดถึงเรื่องของสุขภาพที่ดี(Wellness) บนโลกออนไลน์เติบโตขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 75% โดยอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวสูงสุด คือ อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) พบว่า โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพที่ดีรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นที่พูดถึงบนออนไลน์เพิ่มขึ้น 180 % รองลงมาเป็นการแพทย์เฉพาะบุคคล 145.95 % ตามด้วยสปา 75.96 % แต่พบว่าFitness & Mind Bodyมีอัตราการพูดถึงปรับตัวลดลง 3% สังเกตว่าคนให้ความสนใจหรือพูดถึง โยคะลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมากที่ 58%

นอกจากนี้ การควบคุมอาหารเพื่อสุขภาพ มีอัตราการพูดถึงบนสังคมออนไลน์เติบโตมากถึง 128% จากปี 2017 เป็นผลมาจากเทรนด์การจัดเวลาการกินอาหาร และควบคุมคาร์โบไฮเดต (Intermittent fasting & Keto Fasting)หรือคีโต ซึ่งจากเทรนด์ของอาหารที่พบการพูดถึงบนออนไลน์ จะสังเกตว่า อาหารประเภท ไขมันต่ำ และ แคลอรี่ต่ำ เติบโตน้อยลง ในขณะที่ประเภทอาหารอื่นๆ กลับเติบโตขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของอาหารที่ปราศจากกลูเต็น(Gluten)ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีการพูดถึงเพิ่มขึ้น 179.02 % และวีแกน( Vegan)ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 166.05 % จึงไม่แปลกใจที่คนบนออนไลน์จะหากลุ่มอาหารประเภทโปรตีนทดแทน จนทำให้อัตราการพูดถึงเพิ่มขึ้นขึ้นเช่นเดียวกัน

ขณะที่ปัญหาความเมื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปัญหา Office Syndrome เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วิธีการรักษาประเภทหัตถการ (Manipulative and Body-Based Methods) เติบโตสูงขึ้นโดย วิธีการรักษาที่ถูกพูดถึงมากสุดคือ การฝังเข็ม การครอบแก้ว ส่วนการใช้ดนตรีบำบัด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ต่อเนื่องนับจากต้นปี 2017 ส่วน การออกกำลังกาย ชี่กงมีการเติบโต ขึ้น 34.28%

“ข้อมูลที่ปรากฏบนโลกออนไลน์นี้ พบว่าธุรกิจด้านเฮลท์แคร์และเวลล์เนสส์น่าสนใจมาก เพราะข้อมูลการพูดถึงเรื่องเหล่านี้โตขึ้นเร็วมาก โดยจากปี 2560-2561 เพียง 1 ปีมีการพูดถึงโตขึ้นถึง 85 %”นายกิตติพงศ์กล่าว