สบน.ชี้แจงข้อวิจารณ์การกู้เงินจากจีน

สบน.ชี้แจงข้อวิจารณ์การกู้เงินจากจีน

สบน.ชี้แจงข้อวิจารณ์การกู้เงินจากจีน สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอชี้แจงว่า การดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation: FOC) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งใน FOC ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการว่า แหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการฯ จะมาจากหลายแหล่ง ประกอบด้วย งบประมาณของรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่น โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเงินกู้ของฝ่ายจีนจะต้องดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 13,273.89 ล้านบาท และเงินกู้ 166,342.61 ล้านบาท ในส่วนเงินกู้ จะใช้เงินกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่สำหรับว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศไทยในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินประมาณ 127,784.23 ล้านบาท   หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของวงเงินกู้ และจะใช้เงินกู้ต่างประเทศสำหรับรายการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี จากต่างประเทศและใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาขบวนรถ งานวางราง และการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งมีวงเงินประมาณ 38,558.38 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเปิดกว้างให้สามารถจัดหาเงินกู้ได้ทั้งจากแหล่งเงินในประเทศและต่างประเทศสำหรับนำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้มากที่สุด

สำหรับข้อกังวลที่ว่าประเทศไทยจะติดกับดักหนี้จีนนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเองทั้งหมด ไม่ได้ร่วมลงทุนกับฝ่ายจีน และดำเนินการในพื้นที่ประเทศไทย ประเทศไทยจึงเป็นเจ้าของโครงการแต่เพียงผู้เดียว โดยที่ฝ่ายจีนเป็นเพียงผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงแก่ประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศสำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วบางส่วน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนที่มีรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้มีการผูกพันสัญญาเงินกู้กับ CEXIM หรือแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอื่น ดังนั้น จึงคลายกังวลได้ว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีเงื่อนไขและต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว

สำหรับประเด็นความคุ้มค่าในการลงทุนและปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ถึงขนาดสูญเสียความเป็นเจ้าของโครงการให้แก่ฝ่ายจีนนั้น สบน. ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการ และผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการเงิน และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการด้วยแล้ว โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเส้นทางเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งได้พิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมในเชิงกว้างมากกว่าการคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว