ฝากรัฐบาลรับผิดชอบดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ

ฝากรัฐบาลรับผิดชอบดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ

ประธานกอปศ. ฝากรัฐบาลรับผิดชอบดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ระบุล่าช้ามาก ย้ำกฎหมายหลักยังไม่ออกไม่กระทบกม.ระดับรองที่ใช้แล้ว คาด ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ผ่านสนช.ภายในก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.62 ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา(กอปศ.) กล่าวภายหลังการประชุมกอปศ.ว่าที่ประชุมได้มีพิจารณาเรื่องความก้าวหน้ากลไกการปฎิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 มีการประกาศใช้แล้ว และกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ....,ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... ซึ่ง 2 ฉบับแรกได้รับความเห็นชอบในวาระ 1 จากสนช.แล้ว ส่วนร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาพ.ศ... กำลังปรับแก้อยู่ นอกจากนั้น ในส่วนของร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... อยู่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาได้เสนอ และ แผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งเป็นแผนที่ 12 โดยกำหนดจะเข้าที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 25 ม.ค. 2562 และหลังจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เมื่อผ่านไปยังสนช. ก็จะลงพิมพ์ในพระราชกฤษฎีกา ต่อไป

“สิ่งที่จะมีความชัดเจนในวันนี้ คือเรื่องบทบาทหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยในแต่ละกลุ่มอายุจะมีเด็กเกิดอยู่ ประมาณ 6-7 แสนคน และอยู่ในท้องที่ต่างๆ กระจายทั่วประเทศ การพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามร่างพ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัยพ.ศ... นั้นทำให้ต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้อย่างมาก และเป็นบทบาทของ อปท.ที่ต้องเข้าไปดูสถานศึกษาขนาดเล็ก ทั้งการจัดการศึกษา และการดำเนินการของศูนย์เด็กเล็ก ส่วนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษานั้น ต้องอาศัยรัฐ และเอกชนเป็นเครื่องมือสำคัญ”ศ.นพ.จรัส กล่าว

ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อว่าขณะนี้ ร่างพ.รบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ยังอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่วนจะออกมาเป็นพ.ร.บ.ได้เมื่อใดนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะกอปศ.ส่งไปแล้วตั้งแต่เดือนส.ค.-ก.ย. ปี2561 ซึ่งถือว่าล่าช้าไปมาก เพราะการปฎิรูปการศึกษา ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และทุกคนตระหนักว่าการศึกษามีปัญหาค่อนข้างมาก และกำหนดว่าต้องมีการปฎิรูปการศึกษา เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาเด็กเล็ก แก้ปัญหาเรื่องครู และการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่ไม่ทันกับโลก ดังนั้น ขณะนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนการผลักดันกฎหมายระดับรองในหลายเรื่องขณะนี้ สามารถทำได้ทันที ต่อให้กฎหมายฉบับหลักยังไม่เกิดขึ้น

ด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่าโดยหลักการเมื่อร่างแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นการรับรองหลักการและรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งทางกอปศ. ได้มีการเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการปฎิรูปการศึกษา รวมถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยังที่ประชุม ดังนั้น เมื่อทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอมา ทางกอปศ.ก็จะนำมาปรับปรุงในบางรายละเอียดแต่ไม่ใช่หลักการใหญ่ เช่น กฎหมายระดับรองที่เดิมมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกฎหมายระดับรองต่างๆ อาจต้องมีการกำหนดใหม่ เพราะอาจไม่กำหนดใหม่จะส่งผลต่อผู้ที่จะมารับผิดชอบไม่สามารถนำไปปฎิบัติได้ อีกทั้ง เป็นการสร้างความชัดเจนในการจัดการศึกษาและความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชน รวมถึงเรื่องครู เช่น การพิจารณาทั้งเรื่องมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพต่างๆ เรื่องครูอาชีวะ การปฎิรูปด้านอาชีวศึกษา บทบาทของรัฐในการส่งเสริมให้การเรียนอาชีวะไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ด้อยโอกาส หรือการสนับสนุนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ผ่านสนช.ภายในตามเดือนก.พ.นี้