คาดสงครามการค้าใกล้ยุติหนุนดาวโจนส์พุ่งกว่า300 จุด

คาดสงครามการค้าใกล้ยุติหนุนดาวโจนส์พุ่งกว่า300 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันศุกร์ (18ม.ค.)ตามเวลาสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า300 จุด หลังมีรายงานว่า จีนเสนอเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จะปิดทำการในวันจันทร์หน้า (21ม.ค.) เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 336.25 จุดหรือ 1.38% ปิดที่ 24,706.35 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 34.75 จุดหรือ 1.32% ปิดที่ 2,670.71 จุดและดัชนีแนสแด็กบวก 72.77 จุดหรือ 1.03% ปิดที่ 7,157.23 จุด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า จีน เสนอแผนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ โดยจีนเสนอที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐเป็นเวลา 6 ปี รวมมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ จีน เสนอที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2567 จากที่ขาดดุลการค้าต่อจีนจำนวน 3.23 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ซึ่งรายงานดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ทางการจีนยืนยันว่า นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเดินทางเยือนสหรัฐในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อเปิดการเจรจากับสหรัฐรอบใหม่

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลที่ระบุว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังหารือกันเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งอาจจะเป็นการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทหรืออาจจะยกเลิกทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะลดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ

ขณะเดียวกัน การเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐที่สดใส ก็ได้เป็นปัจจัยบวกต่อตลาด

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 เดือนในเดือนธ.ค. โดยได้แรงหนุนจากการผลิตรถยนต์ และสินค้าหลากหลายประเภท

เฟด เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคการผลิต, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ส่วนภาคการผลิต และเหมืองแร่ดีดตัวขึ้นในเดือนธ.ค. ขณะที่สาธารณูปโภคทรุดตัวลง

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 76.5% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 75.8 ในเดือนพ.ย.