รฟม.ดึงเอกชนลงทุนรถไฟฟ้าภูเก็ต 3.4 หมื่นล้าน

รฟม.ดึงเอกชนลงทุนรถไฟฟ้าภูเก็ต 3.4 หมื่นล้าน

รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเบาภูเก็ต เตรียมขออนุมัติ ครม.กลางปีนี้ วงเงินลงทุน 3.4 หมื่นล้าน เริ่มก่อสร้างปี 63 เปิดให้บริการปี 66

ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถ และนักท่องเที่ยวเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. จึงได้วางแผนลงทุนสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล บอกว่า ขณะนี้ รฟม.ได้จัดทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ในโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีเอกชนเดินรถและรับเหมาก่อสร้างทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจจำนวนมาก รวมทั้ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

โดย รฟม.จะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนโครงการ และรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากตัวแทนของภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลขนจังหวัดภูเก็ตเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ  คือระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร  และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น - เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี  คิดค่าโดยสารตามระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว หรือแรกเข้า 18 บาท เก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track โดยภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้าน ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้าน แต่จะให้เอกชนลงทุนไปก่อน ทั้งระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถ การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา ส่วนงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-3 ปีครึ่ง ให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี 

คาดว่าโครงการนี้จะสามารถขออนุมัติจาก ครม.ประมาณกลางปี 62 และจะเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมประมูลได้ในไตรมาส 3 จากนั้นคณะกรรมการจะดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชน คาดว่าจะใช้เวลา 9 เดือนถึง 1 ปี ตั้งเป้าเซ็นสัญญากลางปี 2563 วงเงินลงทุนโครงการ 34,827 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 และเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โครงการจะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ 12.51% อยู่ในเกณฑ์ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด