อันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3

อันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยอันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 โดยเน้นลงทุนภาคบริการใน CLM มากขึ้น

นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีบทบาททางเศรษฐกิจใน CLMV (KR CLMV Economic Presence Index: CLMV-EPI) โดยรวมของไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2560 เป็นต้นมา ไม่ติด 1 ใน 3 อันดับสูงสุด โดยญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 แทนไทย โดยมีบทบาทในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สนใจลงทุนใน CLMV มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รูปแบบการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นใน CLMV เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยเน้นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (Non-manufacturing sector) มากขึ้น โดยเฉพาะในกัมพูชาและเมียนมา อาทิ อุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคการเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคทางเลือกที่มีศักยภาพสูง

_MG_0125_1

อย่างไรก็ดี การเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตในกลุ่มประเทศ CLM เป็นภาพที่สวนทางกับการเลือกลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมการผลิตในไทยและเวียดนาม จนอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความท้าทายของการพัฒนาศักยภาพทางด้านการแข่งขันของกลุ่มประเทศ CLM โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตต่าง ๆ ซึ่งไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางพัฒนาทักษะแรงงานและวิชาชีพ (Capacity building and skill development) ในภูมิภาค

ไม่เพียงแต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่หันมาให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตใน CLMV มากขึ้น แต่นักลงทุนไทยก็ได้มีความพยายามในการเข้าทำตลาด CLMV มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยถึงแม้ว่าการลงทุนในภาคบริการดั้งเดิมใน CLMV ของผู้ประกอบการไทยนับได้ว่าเป็นการเข้าทำการตลาดที่เหมาะสมกับระดับการบริโภคของ CLMV ในปัจจุบันที่ยังไม่สูงและซับซ้อน อย่างไรก็ดี หากมองไปในอนาคต ภาพรวมการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตจะเริ่มถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสการลงทุนและการส่งออกบริการที่เป็นภาคบริการสมัยใหม่ (Modern service) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแรงงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น อาทิ การบริการทางด้าน IT การบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ หรือการบริการโลจิสติกส์สมัยใหม่

โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้เริ่มรุกการลงทุนดังกล่าวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บริการเรียกรถ (Ride hailing) ของ Grab ของมาเลเซีย หรือ Go-Jek ของอินโดนีเซีย หรือแพลตฟอร์ม e-Commerce ซึ่งรวมถึง Online Travel Agency (OTA) อย่าง Lazada ของสิงคโปร์ หรือ Traveloka ของอินโดนีเซีย จึงนับเป็นความท้าทายของไทยในการเร่งพัฒนาศักยภาพด้านภาคบริการสมัยใหม่ให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถรักษาบทบาทของไทยใน CLMV ให้ยังคงอยู่