สวทช.เร่งผลิตเดนตีสแกน50เครื่องป้อนรพ.

สวทช.เร่งผลิตเดนตีสแกน50เครื่องป้อนรพ.

สวทช. เร่งขยายผลโครงการบิ๊กร็อก 500 ล้านบาท ผลิตเพิ่มเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรมป้อนโรงพยาบาลทั่วประเทศ 50 เครื่องเสร็จกลางปี 62 เตรียมขยายตลาดซีแอลเอ็มวี พร้อมพัฒนาเดนตีสแกน มินิลงคลีนิค

สวทช. เร่งขยายผลโครงการบิ๊กร็อก 500 ล้านบาท ผลิตเพิ่มเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรมป้อนโรงพยาบาลทั่วประเทศ 50 เครื่องเสร็จกลางปี 62 เตรียมขยายตลาดซีแอลเอ็มวีภายใต้ความร่วมมือโครงการไจก้า พร้อมพัฒนาเดนตีสแกน มินิ 3.0 ลงเจาะคลีนิคเพื่อขยายฐานลูกค้า

กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการแพทย์ (สนพ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานวิจัยเครื่องเดนตีสแกน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย” เพื่อการใช้งานเครื่องดังกล่าวในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร จากผลงานการพัฒนาของ สวทช.

นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ด้วยการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมมิติทางทันตกรรม หรือเครื่องเดนตีสแกน รุ่น 2.0 มาใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้เข้าถึงบริการในราคาที่ถูกลงจากการใช้เครื่องที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยแทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง

ที่สำคัญในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านทันตกรรมระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และทำให้ทันตแพทย์สามารถเห็นโครงการในช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วยได้ 360องศา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการผ่าตัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการฝังรากฟันเทียมมากขึ้นจากเดิมที่ใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สองมิติ นับเป็นความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยไทยอย่างแท้จริง

​ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากการดำเนินงานภายใต้โครงการบิ๊กร็อกของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริมแกร่งให้กับธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย หนึ่งในนวัตกรรมที่อยู่ในโครงการคือ เดนตีสแกน และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม เพื่อส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมไทยเข้าสู่การใช้งานในโรงพยาบาลโดยใช้งบ 500 ล้านบาท

​ โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งเดนตีสแกนในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ 50 แห่งทั่วประเทศ พร้อมการฝึกอบรมการใช้งานให้กับบุคลากรทางทันตกรรม ล่าสุดจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 2 แห่งข้างต้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาเครื่องละ 10 ล้านบาท ขณะที่เดนตีสแกน ราคา 5.5 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จสิ้นกลางปี 2562

จากนั้นมีแผนที่จะขยายตลาดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยร่วมกับโครงการไจก้า-ญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและกลุ่มเป้าหมายมีความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพของไทย

พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติในแนวนอน เพื่อใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงการพัฒนาเครื่องเดนตีสแกนขนาดเล็ก เพื่อขยายไปสู่ตลาดคลินิกที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งมีจำนวนมากในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

​ ทั้งนี้ เนื่องจากประโยชน์จากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นโครงสร้างช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วยแบบ 360 องศา ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปาก

​ปัจจุบันเครื่องเดนตีสแกนมีจำนวนการใช้งานทั้งสิ้น 20 เครื่อง มีการใช้มากกว่า 5,000 ครั้ง กระจายอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของทันตแพทย์ในการการวางแผนผ่าตัด, การฝังรากฟันเทียมมีประสิทธิภาพแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาไปสู่ “แพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม” จากการเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ในการดูแลรักษาอุปกรณ์และเก็บข้อมูลโรคในช่องปาก เพื่อนำไปวางแผนในการป้องกันและดูแลสุขภาพในช่องปากของคนไทยในอนาคต