พท. เสนอ 5 ปัญหาพร้อมทางแก้กฎหมายที่ไม่เอื้อการทำกิน ปชช.

พท. เสนอ 5 ปัญหาพร้อมทางแก้กฎหมายที่ไม่เอื้อการทำกิน ปชช.

"เพื่อไทย" เสนอ 5 ปัญหาพร้อมทางแก้กฎหมายที่ไม่เอื้อการทำกิน ปชช.

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 ทางพรรคเพื่อไทยได้จัดให้มีการเสวนา ในหัวข้อ “การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทํามาหากินของประชาชน” ขึ้นที่พรรคเพื่อไทย ดำเนินการเสวนาโดยนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตประธานรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนของไทย โดยนายโภคินได้กล่าวถึงปัญหาของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของประชาชนไว้ 5 ข้อด้วยกันว่า

1. จากประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายของตนที่มีมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ในภาครัฐทั้งด้านวิชาการ ด้านบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติและการพบปะกับประชาชนชนหลากหลายอาชีพตลอดช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งที่ผู้คนคาดหวังและคิดว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปในบนเส้นทางนี้ก็คือ มีความเสมอภาค สะดวก เรียบง่าย รวดเร็ว ในการทำมาหากิน และการได้รับข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการ สนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ ทันสมัย ปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะที่เขาเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ไม่ใช่ต้องเกรงกลัวหรือเกรงใจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. วันนี้เป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เพราะความก้าวหน้าของ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ แต่สิ่งที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงและดูเหมือนจะหนักกว่าเดิมคือ การทำมาหากินของประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มที่มีเส้นสาย ยังคงมีการเลือกปฏิบัติ ยุ่งยาก ล้าช้า ต้องขออนุมัติ อนุญาต ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆของระบบบราชการ และดุลพินิจ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่จำเป็น และไม่เป็นประโยชน์มากมาย เป็นต้นทุนที่มหาศาล และเป็นบ่อเกิดหลักของการทุจริตคอรัปชั่น

3. กฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน การทำธุรกิจต่างๆ ของประชาชนแทบทั้งหมดมาจากการนำเสนอ การร่าง และการบังคับใช้ของหน่วยงานต่างๆของรัฐ บนพื้นฐานของการสันนิษฐานว่า ประชาชนที่จะทำธุรกิจ หรือทำมาหากินในรูปแบบต่างๆนั้น ไม่น่าจะสุจริต จึงออกกฎเกณฑ์มามากมายหลากหลายเพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่อนุมัติ อนุญาตเสียก่อน รวมทั้งมีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ ลงโทษ ฯลฯ ไม่มีความเชื่อถือ เชื่อมั่นในความสุจริตใจ และความตั้งใจดีของประชาชนเลย คงตั้งอยูบนหลักคิดว่า หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่เก่ง รู้เรื่อง สุจริต ยิ่งไปกว่านั้น ต่างกระทรวง ต่างหน่วยงาน ก็ใช้แนวทางพิจารณาของตน แทบไม่คำนึงถึงองค์รวมเลย

ที่ร้ายที่สุดคือการอ้าง “เพื่อความมั่นคง” “ความสงบเรียบร้อย” ฯลฯ เป็นคาถาสำคัญ เมื่อไม่รู้ว่าจะให้เหตุผลที่ถูกต้องอย่างไร จนกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรม “อำนาจนิยม” ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่การแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกปกติเช่น ระบอบประชาธิปไตย หรือระบบการบังคับใช้กฎหมายและความยุติธรรมที่ยึด หลักนิติธรรม ถูกข้าราชการบางกลุ่มที่มีทัศนะคติ“อำนาจนิยม” มองข้าม และใช้การรัฐประหาร ใช้อำนาจพิเศษทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการแทน ซึ่งผลที่ตามมาในปัจจุบันที่ ชัดเจนคือ ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำมาหากินลำบาก ไม่ทันโลก มีต้นทุนสูง ต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทางให้ระบบราชการ เพื่อซื้อความสะดวก รวดเร็ว

4. กลุ่มอำนาจนิยม จัดให้มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือ การประกอบอาชีพโดยไม่ ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และก่อนการร่างกฎหมาย รัฐต้องฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบ เปิดเผยการรับฟังและการวิเคราะห์ต่อ ประชาชน แต่แทนที่จะทำตามรัฐธรรมนูญ กลับใช้มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ หัวหน้า คสช. อย่างฟุ่มเฟือย ยิ่งกว่านั้น เมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลได้แถลงอย่างภาคภูมิใจว่า 4 ปีที่ผ่านมา สนช. ออกกฎหมายแล้ว 300 กว่าฉบับ ในขณะที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ออกกฎหมายเพียง 120 ฉบับ ในเวลา 7 ปี ตั้งแต่ 2551-2557 เท่ากับว่า ออกกฎหมายเฉลี่ยปีละ 17 ฉบับ จึงเห็นได้ชัดว่ากลุ่มอำนาจนิยม ทำเพียงสร้างวาทะกรรมให้ดูดีและกระทำตรงกันข้ามโดยไม่สนใจหลักที่ตนวางไว้แต่อย่างใด

5. เมื่อดูยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดโดยกลุ่มอำนาจนิยมเช่นกัน วาดอนาคตประเทศไทยไว้สวยหรู โดยเฉพาะระบบข้าราชการ ว่าประเทศไทยจะมีระบบบริหารภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย รับผิดชอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้และประชาชนมีส่วนร่วม เพราะปัจจุบันเรามีระบบบริหารราชการ แผนดินที่อ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ แต่ไม่เห็นแนวทางหรือนโยบาย หรือแผนงานอะไรที่ชัดเจน ตอบสนองสิ่งที่กล่าวไว้ จึงกลายเป็นว่าเรากำลังก้าวสู่ยุค 4.0 ภายใต้การนำของกลุ่มอำนาจนิยม และระบบราชการที่ล้าหลัง ติดยึดกับการใช้อำนาจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ประชาชน จึงยิ่งสร้างรัฐราชการ ให้ใหญ่โตและมีอำนาจมากขึ้น โดยร่วมมือกับกลุ่มทุนใหญ่และทุนเส้นสายต่างๆ

ทั้งนี้นายโภคินยังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ 5 ข้อดังนี้

1. ต้องสันนิษฐานว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากินโดยสุจริต เคารพกฎหมาย ตั้งอยู่บนมาตรฐานที่ดี เหมาะสม ดังนั้นต้องยกเลิกระบบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและสร้างต้นทุนให้หมด เพราะมีกฎหมายกำหนดความผิดและโทษอยู่แล้ว ไม่ใช่ผิดเพราะไม่ขออนุญาต ซึ่งคุณบรรยง พงษ์พานิช ได้ให้ข้อมูลโดยอ้างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา ระบบราชการ (กพร.) ว่ามีประมาณ 1,500 กว่าชนิด ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีไม่ควรเกิน 300 ชนิด เกาหลีใต้เคยมี 800 ชนิด ปี 2541 เหลือ 280 ชนิด เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยคือ ต้องการให้เหลือไม่เกิน 300 ชนิดภายใน 4 ปี โดยใช้การแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ตรวจสอบ และในกิจการบางประเภท สามารถให้ดำเนินการไปได้เลย โดยมาขออนุมัติอนุญาต ภายใน 60 วัน หรือ 90 วัน

2. ปรับระบบรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน ด้วยการออกกฎหมายรับรองให้มีองค์กรที่เป็น ศูนย์กลางการรวมตัวของผู้ประกอบการประเภทต่างๆ ที่มีขนาดกลาง ขนาดเล็ก เช่น ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร การขายหรือบริการออนไลน์ โฮมสเตย์ อพาร์ตเมนต์ หอพัก ฯลฯ เพื่อการ มีส่วนร่วม การให้ความคิดเห็น การส่งเสริมมาตรฐานของกิจการ และการตรวจสอบดูแลกันเอง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย รับผิดชอบต่อผู้บริโภค เพื่อลดอำนาจและภาระของภาครัฐ ทำนองเดียวกับวิสาหกิจชุมชนตาม พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 องค์กรวิชาชีพ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า แต่ไม่ต้องเข้มข้นถึงขนาดองค์กรวิชาชีพ กรณีนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

3. ให้หน่วยงานของรัฐทำคู่มือละเอียดและชัดเจนสำหรับประชาชนที่มาติดต่อเพื่อทำมาหากิน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการขออนุญาตหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายและมาตรฐาน ของกิจการ หากดำเนินการแล้วยังมีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการช่วยเหลือ ให้ความรู้และให้เวลาเพื่อทำให้ถูกต้องเสียก่อน กรณีนี้ทำได้ทันทีในทางนโยบาย และแก้ไข้กฎหมายการอำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาต ของทางราชการ พ.ศ.2558 ให้กระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น

4. ให้หน่วยงานของรัฐเสนอว่า ในงานที่รับผิดชอบจะยกเลิกขั้นตอน กระบวนการ อนุมัติ อนุญาต ให้มากที่สุดได้แก่อะไรบ้าง จะช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมประชาชน ในแง่การเข้าถึงข้อมูลในการทำมาหากิน การรวมตัวและสร้างเครือข่ายเพื่อให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร รวมทั้งให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการแต่ละประเภท ต้องหาทางออกร่วมกันให้เกิด One Stop Service จริงๆ ไม่ใช่เป็นแบบ One Window Service เช่นที่เป็นอยู่ กรณีนี้ทำได้ทันที เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 1. โดยการแก้ไขกฎหมาย การอำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ให้หน่วยงานของรัฐเสนอยกเลิกการอนุญาตตลอดเวลา ไม่ใช่ทำทุก 5 ปี

5. สร้างระบบตรวจสอบและการให้คะแนนหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติงานโดยประชาชน ผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาประเมินประกอบการปฎิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน ระบบราชการ และการให้รางวัลหรือตักเตือน ลงโทษ กรณีนี้สามารถทำได้ทันทีโดยเฉพาะระบบการให้คะแนน

ซึ่งภายในงานเสวนาในวันนี้ก็มีสมาชิกพรรคพท. ตัวแทนผู้ประการธุรกิจ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจออนไลน์ ฯ มาร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในเรื่องการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทํามาหากินของประชาชนด้วย