ล้มประมูลแหลมฉบังเฟส3

ล้มประมูลแหลมฉบังเฟส3

กทท.เล็งล้มประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลัง "แอสโซซิเอท อินฟินิตี้" ยื่นซองข้อเสนอเพียงรายเดียว ทั้งยังสอบตกเหตุไม่ยื่นหลักประกันซอง กทท.ลั่นต้องกลับมาพิจารณาหลักเกณฑ์ก่อนเริ่มขั้นตอนประมูลใหม่ "อุตตม" ยืนยันไม่กระทบโครงการอื่นที่กำลังประมูลในอีอีซี

แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (14 ม.ค.) กกท.เปิดให้ผู้ซื้อซองประมูลร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เข้ายื่นซองประมูล โดยมีเอกชนยื่นซองเพียง 1 ราย คือ บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (Associate Infinity) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย และเมื่อตรวจซองคุณสมบัติแล้วพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ยื่นหลักประกันซองมาด้วย

“มีผู้ซื้อซองไป 32 ราย แต่มีเอกชนมายื่นเพียงรายเดียว และตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นก็พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากเอกสารไม่ครบ หลังจากนี้ กทท.ก็จะต้องรายงานผลการเปิดรับซองดังกล่าวตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงว่าบริษัทดังกล่าวจะตกคุณสมบัติ ทำให้การประมูลรอบนี้อาจจะต้องประกาศยกเลิกออกไปก่อน เพื่อกลับมาแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ เท่ากับว่าต้องประมูลใหม่”

1_112

รายใหญ่ซื้อซองเพียบแต่ไม่ยื่น

สำหรับก่อนหน้านี้ กทท.ประเมินว่าจะมีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอมากกว่า 5 กลุ่ม เนื่องจากมีจำนวนเอกชนเข้าซื้อซองสูงถึง 32 ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในวงการโลจิสติกส์ทางเรือระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล ของฮ่องกง บริษัทท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority : PSA) บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ของกลุ่มดูไบ เป็นต้น

ขณะที่เอกชนไทย พบว่ามีบริษัททุนใหญ่ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือ ปตท. ที่เข้ามาซื้อซองในนามบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด (PTT Tank) รวมไปถึงบริษัทรับเหมาอย่าง บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนคอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมจะพิจารณาผู้ประมูลให้เสร็จภายใน 1 เดือน พร้อมกำหนดเสนอผลการประมูลเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาภายในต้นเดือน มี.ค.2562 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือน พ.ค. 2562 ดังนั้นหากโครงการประมูลต้องถูกยกเลิกและเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ แน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อระยะเวลาดำเนินโครงการล่าช้า

แอสโซซิเอททุนจดทะเบียน10ล้าน

รายงานข่าวระบุว่า จากากรตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 13 ม.ค.2562 พบว่า บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด จดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2544 ตั้งอยู่ที่ 225 ซอยบางนา - ตราด 14 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ยื่นขอจดทะเบียนในหมวดธุรกิจการขายส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม มีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นคณะกรรมการบริษัท คือ นายเผด็จ เมธิยานนท์ นายสมศักดิ์ รัศมีวิริยะนนท์ และนางสาวลัดดาวัลย์ ชูบาล

โดยข้อมูลงบแสดงสถานะทางการเงิน ปี 2559-2561 พบว่าบริษัทมีสินทรัพย์รวมในปี 2559 อยู่ที่ 954,293 บาท และในปี 2560 อยู่ที่ 945,571 บาท แจ้งข้อมูลหนี้สินรวมในปี 2559 อยู่ที่ 8,280 บาท และในปี 2560 อยู่ที่ 8,280 บาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ในปี 2559 อยู่ที่ 946,013 บาท และในปี 2560 อยู่ที่ 937,291 บาท

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กทท.นำร่องพัฒนาในพื้นที่โซน F ความยาวหน้าท่า 2,000 เมตร แบ่งเป็น F1 ความยาว 1,000 เมตร และ F2 ความยาว 1,000 เมตร เป้าหมายต้องการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะต้องเข้าบริหารจัดการพื้นที่ในช่วง 2 ปีแรก บนพื้นที่ 1,000 เมตร และภายใน 6 ปี จะต้องพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่ให้ครบทั้ง 2,000 เมตร

ทั้งนี้ เงื่อนไขในทีโออาร์ของการรวมกลุ่มกิจการร่วมค้าเพื่อประมูลโครงการบริหารท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นั้น กทท.กำหนดไว้ว่า เอกชนที่จะรวมกลุ่มกันมาประมูล จะต้องห้ามปรับเปลี่ยนตัวพันธมิตรภายใน 10 ปี แต่ยังสามารถเปลี่ยนสัดส่วนการร่วมทุนได้ โดยเฉพาะพันธมิตรแกนหลักที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารท่าเรือ มีประสบการณ์บริหารท่าเรือมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และจะต้องมีสัญญาที่มีปริมาณตู้สินค้าอย่างน้อย 1 ล้านทีอียูต่อปี ตลอดระยะเวลา 3 ปีล่าสุด ถือเป็นแกนหลักที่ห้ามปรับเปลี่ยน เนื่องจากโครงการดังกล่าวถือเป็นการบริหารท่าเรือ ดังนั้นต้องมีแผนบริหารและนโยบายที่ชัดเจน

อุตตมชี้ไม่กระทบโครงการอื่น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) กล่าวว่า แม้การประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะมีผู้ยื่นซองเพียง 1 ราย และยังขาดเอกสารค้ำประกันซอง ก็ไม่กระทบโครงการนี้ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลได้เตรียมแผนรองรับสำหรับกรณีนี้ไว้แล้ว เพื่อคัดเลือกเอกชนที่ดีที่สุดเข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการออกมาชี้แจงขั้นตอนรายละเอียด

ทั้งนี้ การที่มีผู้เข้ามายื่นซองเพียง 1 รายนั้น โดยส่วนตัวมองว่า เบื้องต้นมีเอกชนสนใจโครงการน่ี้พอสมควรมาซื้อซอง 32 ราย แต่ที่เข้ามายื่นซองน้อยอาจะเป็นเพราะเอกชนที่เข้ามาซื้อซองที่เป็นชาวต่างชาติ อาจจะไม่คุ้นเคยกับระบบการดำเนินงานของไทย ทำให้เตรียมเอกสารยื่นซองไม่ทัน

ส่วนจะกระทบต่อโครงการประมูลเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ใน อีอีซี โครงการอื่นหรือไม่นั้น มองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบเพราะโครงการอื่นก็มีลักษณะแตกต่างกัน โดยในเรื่องนี้จะให้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มาชี้แจงรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานต่อไป