ปตท.-บีไอจีทุ่ม1.5พันล้าน ลงทุนหน่วยแยกก๊าซอุตฯ

ปตท.-บีไอจีทุ่ม1.5พันล้าน ลงทุนหน่วยแยกก๊าซอุตฯ

ปตท. จับมือ บีไอจี ทุ่ม 1.5 พันล้านบาท ตั้งหน่วยแยกก๊าซอุตสาหกรรม นำความเย็นเหลือทิ้งจากแอลเอ็นจี ผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หนุนระเบียงผลไม้ตะวันออก เดินเครื่องผลิตปี 2564

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการ Air Separation Unit หรือ หน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ได้แก่ ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และทางการแพทย์

โดยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท กำลังผลิต 450,000 ตันต่อปี จะผลิตเชิงพาณิชย์ปี 2564 ซึ่งจะสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

ทั้งนี้ โครงการ Air Separation Unit หรือ ASU เริ่มมาจากกลยุทธ์ของหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ในการนำพลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะของ LNG จากของเหลวเป็นก๊าซมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยจะลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ เป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นของ PTTLNG ลงทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้ บีไอจี ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และ ปตท. ร่วมกับบริษัทในเครือ ปตท.ถือหุ้น 51% โดยบีไอจี มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมและการตลาดก๊าซอุตสาหกรรม ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยจากบริษัทแอร์โปรดักส์ ที่เป็นบริษัทแม่ของบีไอจี

นายปิยบุตร กล่าวว่า จะนำไนโตรเจนที่ผลิตได้จากโครงการไปต่อยอดนวัตกรรมในการรักษาคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ก่อนที่จะนำไปเก็บในห้องเย็น ทำให้เก็บรักษาผลไม้ได้นานและมีคุณภาพดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้โลก