ปรากฏการณ์“อาลีบาบา เอฟเฟค”ในหมู่ชาวจีนยุคใหม่

ปรากฏการณ์“อาลีบาบา เอฟเฟค”ในหมู่ชาวจีนยุคใหม่

ปัจจุบัน อาลีบาบามีข้อมูลผู้บริโภคประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมถึงประวัติการซื้อสินค้า และบริการ ภูมิหลังด้านการศึกษาและสินทรัพย์ในครอบครอง ประวัติการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและประวัติการใช้ยา

ในยุคที่ชาวจีนส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้น ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการกันอย่างเพลิดเพลิน ประกอบกับความสะดวกสบายด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “อาลีบาบา เอฟเฟค”นั่นคือการที่ผู้บริโภคสูญเสียข้อมูลส่วนตัว ที่มีมูลค่ามหาศาลในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า ในการทำธุรกรรมทางการเงินและในการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพ

อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีน กำลังสร้างฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาอย่างเงียบๆ โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าที่จ่ายค่าบริการมือถือและการบริการรูปแบบต่างๆที่บริษัทจัดหาให้ ไล่ตั้งแต่ การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ การซื้อสินค้าประเภทอุปโภค-บริโภคตามร้านขายของชำ การขอสินเชื่อบริษัทให้บริการทางการเงิน และการเข้ารับบริการด้านการดูแลสุขภาพ จะเห็นว่า บริษัทในเครืออาลีบาบาแทรกซึมเข้าไปในทุกภาคส่วนของธุรกิจการให้บริการต่างๆที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวจีนจำนวนกว่า 600 ล้านคนผ่านมือถือ แลกกับข้อเสนอที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคต้องให้ข้อมูลส่วนตัวกับบริษัทที่ให้บริการเหล่านั้น แถมบางครั้ง เป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลบางอย่าง ที่รวมถึงประวัติการซื้อสินค้าและบริการ ความสนใจส่วนตัวและข้อมูลยืนยันตัวตนด้วยชีวิมิติของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและนี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้สหรัฐไม่พอใจจีนอย่างมาก

ยกตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า กว่าที่ผู้บริโภคจะได้สินค้าและบริการมาต้องเสียข้อมูลส่วนตัวอะไรไปบ้าง อย่างกรณีเด็กนักเรียนคนหนึ่งในเมืองหางโจว เข้าไปในร้านไก่ทอดเคเอฟซีเพื่อซื้ออาหาร นักเรียนรายนี้ต้องผ่านการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ากับอุปกรณ์อัตโนมัติภายในร้านเพื่อจ่ายเงินค่าอาหาร และผู้พัฒนาระบบการจ่ายเงินนี้คืออาลีบาบา ได้ข้อมูลยืนยันตัวตนด้วยชีวมิติไปเรียบร้อยแล้ว