เทคโนฯนาโน คืนชีพผงหมึกเลเซอร์ คมชัดเหมือนแกะกล่องใหม่

เทคโนฯนาโน คืนชีพผงหมึกเลเซอร์ คมชัดเหมือนแกะกล่องใหม่

นักวิจัยศูนย์นาโนฯ รับโจทย์เอกชนใช้เทคโนโลยีจิ๋ว ปรับปรุงประสิทธิภาพขยะหมึกพิมพ์เลเซอร์ ฟื้นคุณสมบัติเพิ่มความคมชัดเทียบเคียงของใหม่ ช่วยผู้ประกอบการสร้างรายได้จากขยะอุตสาหกรรม

ปัจจุบันการใช้เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์เป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีความเร็วในการพิมพ์สูง เสียงเบาและที่สำคัญใช้หมึกผงที่สามารถละลายติดกระดาษได้โดยตรง งานพิมพ์จึงมีความคมชัด กันน้ำและไม่รางเลือน อีกทั้งผู้ประกอบการที่จัดจำหน่ายก็รับหน้าที่ในการทำลายหมึกพิมพ์เก่า ทำให้เห็นโอกาสจากขยะอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าได้


ลัพธ์พร วยาจุต นักวิจัยห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า หมึกผงสำหรับเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ เมื่อใช้งานได้ระยะหนึ่งประสิทธิภาพจะลดลง สีหมึกจะซีดจาง ไม่คมชัดเหมือนเริ่มเปิดใช้ใหม่ๆ บริษัทที่จำหน่ายและรับกำจัดขยะเหล่านี้จะนำผงหมึกออกมาเผาทำลาย ขณะที่บ่อยครั้งพบว่า ปริมาณหมึกผงในตลับที่รับมากำจัดยังเหลืออยู่มาก จึงน่าจะมีวิธีที่ช่วยให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ผู้ประกอบการมีความพยายามนำหมึกพิมพ์ที่คงค้างในตลับกลับมาใช้ซ้ำ แต่พบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการพิมพ์ จึงต้องนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดทิ้ง เช่น เกิดสีดำบนพื้นหลังของชิ้นงาน ทำให้ความคมชัดและสีที่ได้ผิดเพี้ยนไป และมีความเข้มสีต่ำ

“เมื่อ 3 ปีก่อนทางนาโนเทคได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการที่อยากจะนำของที่ต้องทำลายทิ้งมาแก้ไขเพื่อสร้างรายได้จากเศษเหลือทิ้ง ในขณะเดียวกันก็ลดขยะ จึงติดต่อมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาโดยมีโจทย์หลักคือ การนำกลับมาใช้ใหม่ มีต้นทุนไม่สูงมากและคุณภาพเทียบเคียงหมึกใหม่” ลัพธ์พร กล่าว


ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการฯ มุ่งการวิจัยที่ขับเคลื่อนควบคู่ไปกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยประยุกต์ใช้วัสดุใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระดับปลายน้ำ ปัจจุบันมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุให้สีและวัสดุที่ตอบสนองต่อไฟฟ้า การห่อหุ้ม และการตรวจวัดเชิงเคมีและชีววิทยา ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาวัสดุควบคุมการปลดปล่อย ที่สามารถปรับสมบัติได้ตามต้องการและอุปกรณ์ตรวจวัดเพื่อการดำรงชีวิตแบบอัจฉริยะ


โครงการ “ปรับปรุงประสิทธิภาพหมึกพิมพ์เลเซอร์ ด้วยเทคโนโลยีนาโน” จึงเริ่มขึ้นโดยแบ่งการวิจัยเป็น 3 เฟส เริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์หมึกผงเชิงลึก เพื่อพิสูจน์ไอเดียว่าจะสามารถแก้โจทย์ให้ผู้ประกอบการได้หรือไม่ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นผิว เฟส 2 เป็นการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ ทั้งกระบวนการผลิตและการทดสอบประสิทธิภาพ และ เฟส 3 เป็นการอัพสเกลการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาด 200 ลิตร ที่ต้องคำนึงถึงศักยภาพในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีของผู้ประกอบการเป็นหลัก และสามารถผลิตหมึกพิมพ์รีไซเคิลที่ราคาถูกกว่าของใหม่ โดยมีคุณภาพเทียบเคียงกัน


งานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนจากขยะที่สร้างปัญหามลพิษให้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ปัจจุบันหมึกพิมพ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ได้ผ่านการทดสอบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC19752:2004 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตลับหมึกพิมพ์ คาดการณ์ว่า จะสามารถนำมาใช้แทนหมึกใหม่ได้มากขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการสามารถเดินตามแนวทางของ Zero Waste นวัตกรรมรีไซเคิลหมึกพิมพ์แบบเลเซอร์นั้น ทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล