ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 14-18 ม.ค.2562

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 14-18 ม.ค.2562

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีนมีทิศทางที่ดี

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 49 - 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 - 18 ม.ค. 62)

        ราคาน้ำมันดิบคาดได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศดำเนินไปด้วยดี ประกอบกับ ซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเพื่อปรับสมดุลตลาดน้ำมัน  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะถูกกดดันจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง เพื่อลดปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหาข้อสรุปของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ โดยจีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าจำนวนมากจากสหรัฐฯ ทั้งภาคการเกษตร ภาคพลังงาน ภาคผลิตและการบริการ ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้นับเป็นการเจรจาครั้งแรกหลังจากสองประเทศมหาอำนาจตกลงในการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศเป็นเวลา 90 วัน
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 จะอยู่ที่ระดับ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียมีความมั่นใจว่าการลดกำลังการผลิตจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในครั้งนี้จะทำให้ตลาดน้ำมันดิบกลับสู่สมดุลได้
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่งโอลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 331,000 บาร์เรล ในขณะที่อัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 1.1 มาอยู่ที่ ร้อยละ 96.1
  • จับตาทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังเศรษฐกิจจีนและยุโรปค่อนข้างซบเซา โดยล่าสุด เยอรมนีซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป เผยปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในเดือน พ.ย. 61 ว่าปรับลดลงร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ประกอบกับ บริษัท Apple ยังได้ปรับลดคาดการณ์ยอดขายในประเทศจีนลง นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลง จากผลกระทบของอัตราการลงทุนที่ปรับลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลกคาดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ปริมาณการส่งออกจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 ม.ค. 62)

       ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 51.59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 60.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่คืบหน้าไปในทิศทางบวก ประกอบกับ กลุ่มผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปคปรับลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือน ต.ค. 61  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน หลังนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ม.ค. 62 ปรับลดลงราว 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดถึง 2.8 ล้านบาร์เรล