ต่อยอดแหลมฉบัง 'สมาร์ทซิตี้'

ต่อยอดแหลมฉบัง 'สมาร์ทซิตี้'

กทท.-ดีป้ายกระดับแหลมฉบังสู่ท่าเรืออัจฉริยะ ต่อยอดเมืองอัจฉริยะศรีราชา แก้ปัญหาจราจรศรีราชาทั้งระบบ ใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท เผยเปิดยื่นซองลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วันนี้ (14 ม.ค.) คาดประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติทันที

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่าง กทท. กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่า การจราจรที่ท่าเรือแหลมฉบังมีความแออัดมาก ดังนั้นที่ผ่านมา กทท.จึงได้ขยายช่องทางเข้ารถคอนเทนเนอร์เป็น 39 ช่องทาง และจัดทำระบบจัดคิวรถบรรทุก (ทรัคคิวอิ้ง) โดยให้รถบรรทุกเข้ามาจดทะเบียนในเว็บไซต์ ซึ่งระบบจัดทำระบบคิวกำหนดให้รถบรรทุกแต่ละคันจะต้องเข้ามาส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเวลาใด เพื่อลดความความแออัดที่มีรถบรรทุกเข้ามาพร้อมกัน

“ท่าเรือแหลมฉบังได้เปิดให้รถบรรทุกนำตู้คอนเทนเนอร์มาฝากไว้ที่ท่าเรือโดยไม่มีค่าเช่าท่า 3 วัน ซึ่งระบบจะจัดคิวให้นำตู้คอนเทนเนอร์มาไว้ที่ท่าเรือล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด และส่วนใหญ่เรือจะเข้ามารับตู้สินค้าในช่วงวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ โดยวันจันทร์ถึงวันพุธ การจราจรหน้าท่าเรือแหลมฉบังจะว่างมาก และจะมากระจุกตัวติดขัดมากในช่วงบ่ายวันศุกร์ หากจัดคิดให้เข้ามาส่งตู้สินค้าในช่วงดังกล่าวได้มาก ก็จะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ท่าเรือแหลมฉบังได้มาก”

ทั้งนี้ หลังจากระบบนี้ใช้มาเกือบ 1 ปี ยังไม่ได้ผลมากนัก เพราะบริษัทรถบรรทุกรายย่อยมีสัดส่วน 60% ของรถบรรทุกที่เข้ามาส่งตู้คอนเทนเนอร์ ยังไม่เข้าระบบ เพราะผู้ขับรถบรรทุกไม่เข้าใจเรื่องระบบไอที ยังเคยชินกับระบบเดิม ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรถบรรทุกหลายร้อยคัน ก็มีบางส่วนเข้าสู่ระบบ แต่ก็มีอีกหลายรายที่ยังไม่เข้าระบบ ทำให้ระบบทรัคคิวอิ้ง ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก

เร่งผลักดันสมาร์ทพอร์ต

ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เข้ามาช่วยจัดทำระบบท่าเรืออัจฉริยะซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ศรีราชา โดยข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกับดีป้า มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ และผลักดันให้มีการใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ ท่าเรืออัจฉริยะจะเป็นนำร่องในการพัฒนาให้ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งอัจฉริยะ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลายรูปแบบของการส่งออกและนำเข้า ทั้งการขนส่งทางเรือ รถไฟ และรถบรรทุกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก และความคล่องตัวในการบริการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการนำเข้าและส่งออก ลดปัญหาการจราจร มลภาวะ และสิ่งแวดล้อม

โดยดีป้าจะต่อยอดระบบที่มีอยู่ ตั้งแต่การปรับปรุงระบบไอทีของท่าเรือแหลมฉบัง เพราะท่าเรือแหลมฉบังมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อย ซึ่งดีป้าจะไม่ได้ทำเฉพาะเจาะจงการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่ยังมองภาพรวมการจราจรทั้งหมดของเมืองศรีราชานำข้อมูลต่างๆ มาจัดทำบิ๊กดาต้า จึงทำให้การแก้ปัญหาจราจรเป็นไปในภาพรวม ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดทำแอพพลิเคชั่นให้คนขับรถบรรทุกทุกคัน ได้รู้ข้อมูลในทุกๆด้าน ตลอดจนการฝึกอบรมด้านไอทีให้กับคนขับรถบรรทุกด้วย

เชื่อมระบบแก้จราจรศรีราชา

“ดีป้าจะได้ข้อมูลจากท่าเรือแหลมฉบังในการต่อยอดพัฒนาเมืองศรีราชาไปสู่สมาร์ทซิตี้ เพื่อแก้ปัญหากรจราจรในภาพรวมของเมืองศรีราชาทั้งหมด ส่วนท่าเรือศรีราชาจะได้การควบคุมจราจรในบริเวณท่าเรือศรีราชาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนที่เข้ามาใช่ท่าเรือศรีราชา ลดเวลาการเข้าคิด ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง”

สำหรับการดำเนินการโครงการนี้ จะเป็นการลงทุนร่วสมกันระหว่าง ดีป้า ที่จะลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท และบริษัทรถบรรทุกจะรวมกันลงเงินอีก 50 ล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี โดยจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งจะไปหารือในรายละเอียดต่อไป โดยจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ มีความคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับการลดระยะเวลาความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งหากระบบนี้ได้ผลที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก็จะนำไปประยุกต์ใช้กับท่าเรือต่างๆรวมทั้งท่าเรือกรุงเทพ

ยื่นซองแหลมฉบังเฟส 3 วันนี้

ในส่วนของความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ในวันนี้ (14 ม.ค.) กทท.กำหนดให้เอกชนที่ซื้อซองประมูล 32 ราย มายื่นเอกสารซองที่ 1 คือ ซองเอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. จากนั้นเวลา 15.01 น.คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะประชุมทันทีเพื่อพิจารณาแต่ละซองว่าเอกชนรายใดจะผ่านการพิจารณาบ้าง ซึ่งจะประกาศผู้ผ่านหลักเกณฑ์ในซองที่ 1 ภายในวันนี้ (14 ม.ค.) แต่ถ้ามีผู้ยื่นซองมากก็จะเร่งประกาศผลให้เร็วที่สุด จากนั้นจะเข้าขั้นตอนพิจารณาซองที่ 2 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ซอง 3 ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการ และซอง 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน

“คาดว่าจะมีผู้ยื่นซองไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม เพราะมีบริษัทใหญ่ระดับโลกเข้ามาซื้อซองจำนวนมาก ทั้ง ดูไบ ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือแม้แต่บริษัทซีพีของไทย”

ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันประมูลมีข้อกำหนดว่า ต้องมีแผนบริหารและนโยบายที่ชัดเจน โดยใน 10 ปี ห้ามเปลี่ยนพันธมิตร แต่เปลี่ยนสัดส่วนการร่วมทุนได้ และต้องมีสัญญาระยะ 3 ปี ที่ต้องมีปริมาณตู้สินค้าอย่างน้อย 1 ล้านทีอียูต่อปี โดยคาดว่าการพิจารณาซองเอกสารประกวดราคาจะเสร็จภายใน 1 เดือน หรือช่วงวันที่ 14 ก.พ.2562 ซึ่งจะประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลทันที และ กทท.จะเสนอรายละเอียดผลประมูลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา คาดว่าจะลงนามสัญญาในต้นเดือน มี.ค.2562 และจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค.2562