“อันจะกิน” (กัน) วันละโต๊ะ

“อันจะกิน” (กัน) วันละโต๊ะ

จากวงคอรัส “อันจะกิน”ที่อบอุ่นไปด้วยคนชอบกิน มาถึง”อันจะกินวิลล่า”ฝันเล็กๆของคนชอบทำ(อาหาร)กับความตั้งใจรับรองลูกค้าเพียง “วันละโต๊ะ”

โต๊ะเดียวแต่ไม่โดดเดี่ยว

ถึงจะมีโต๊ะเดียวแต่ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกัน จะว่าไปแล้วการจะมากิน “วันละโต๊ะ” ที่บ้านพี่ก้อย - กนิษฐกา ลิมังกูร ที่รู้จักกันในนามอันจะกินวิลล่านั้นต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี เพราะว่านัดแล้วเกิดเปลี่ยนใจจำเป็นต้องไปต่อคิวใหม่ซึ่งส่วนมากจะยาวไปราวสองเดือน ส่วนคนที่จะชวนมากินข้าวด้วยกันนั้นก็ต้องเป็นคนรักใคร่สนิทสนมชอบพอ เพราะต้องเดินทางไปถึงตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

โต๊ะของเราจองล่วงหน้าไว้ร่วมเดือน ยืนพื้นด้วยจำนวน 4 คนซึ่งเป็นขั้นต่ำเพราะพี่ก้อยจะไม่รับน้อยไปกว่านี้ ส่วนที่จะมาเพิ่มนั้นขอให้ไม่เกิน 10 ทีแรกคิดว่าจะนั่งกินแบบหลวมๆพอถึงวันนัดหมายถึงกับต้องขอขยายพื้นที่หัวโต๊ะกันเลย

ในส่วนของเรา “โต๊ะเดียว”เหมือนเหมาทั้งร้าน เพราะอยู่กันนานตั้งแต่เที่ยงจนถึงสี่โมงเย็น ในขณะที่พี่ก้อยก็พอใจที่มีแขกมาเยือน “วันละโต๊ะ” เพราะอยากให้แขกผู้มาเยือนอยู่สบายและเพลิดเพลินกับมื้ออาหารที่ไม่เร่งรีบ

“อันจะกิน” ไม่ใช่ “มีอันจะกิน”

หลายคนเข้าใจผิดว่าร้านเราชื่อ “มีอันจะกิน” ของเราชื่อ “อันจะกิน” เฉยๆ พี่ก้อยแห่งบ้านอันจะกินวิลล่าบอกกับเราอย่างอารมณ์ดี

“ ไปขอชื่อมาจากคุณอำนาจ คีตพรรณา คุณอาตั้งอันจะกินให้ ชื่อน่ารักดีหมายถึงมีอะไรให้กิน คือคนเราเมื่อมีอะไรให้กินเยอะๆมันก็เชื่อมโยงกับ wealthy”

จุดเริ่มต้นของอันจะกินนั้นเกิดจากความรักความอบอุ่นในกลุ่มคอรัส ซึ่งไม่ได้เก่งแต่เรื่องร้องเพลงเรื่องอาหารการกินนั้นจัดว่ามีฝีมือไม่แพ้ใคร

“สมัยที่ยังทำงานอยู่ที่บริษัทเชลล์ พี่ร้องเพลงคอรัสด้วย เราเป็นกลุ่มไม่แสวงหากำไร เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆจนชื่อสุดท้ายคือ อันจะกินคอรัส ในกลุ่มพวกเราเวลาร้องเพลงเสร็จเราก็จะกินข้าวกันในกลุ่มนี้ก็จะมีคนทำอาหารเก่งๆหลายคน

เคยพูดกันในกลุ่มเราว่าอยากจะมีร้านอาหารเล็กๆนะ ซึ่งเป็นความฝันของคนชอบทำอาหาร เป็นร้านอาหารที่ไม่มีเมนูนะ เช่น วันนี้มีเนื้อหมู เราจะทำเมนูหมู อย่ามาถามเรานะว่าวันนี้มีเมนูอะไร นี่คือ พูดมายี่สิบปีที่แล้วนะ สมัยก่อนเชฟเทเบิ้ลไม่มีนะ พี่มานั่งย้อนคิดว่าเมื่อก่อนเราเคยพูดกับเพื่อนแบบนี้แล้ววันนี้เราก็ทำได้จริงๆ”

อย่าเรียกพี่ว่าเชฟ

กินข้าวบ้านพี่ใช้คำว่า “วันละโต๊ะ” พี่ไม่ใช้เชฟเทเบิ้ล เพราะพี่ไม่ใช่เชฟ พี่เป็นคนทำกับข้าว ส่วนใครจะเรียกว่าเชฟก็ไม่ว่าอะไร ตามใจเขา พี่ก้อยบอกกับเรา

เมื่อถามถึงความรักความชอบในการทำอาหารของพี่ก้อยว่ามีมาแต่เมื่อไหร่ คำตอบของพี่ก้อยนั้นทำให้เรามองเห็น “ความรัก”อยู่ในนั้น

“สมัยเด็กๆคุณพ่อทำงานสำรวจอยู่ที่ลานกระบือไปอาทิตย์กลับศุกร์เย็น ที่ลานกระบือในแคมป์มีอาหารบุฟเฟ่ต์ให้กินทุกวันเป็นอาหารฝรั่งทุกวันพ่อก็เบื่อ วันศุกร์เย็นพี่จะไปรับพ่อที่ดอนเมืองกลับบ้านเช้าวันเสาร์พี่จะทำอาหารให้พ่อกิน ตอนนั้นเป็นนักเรียนม.ปลายอยู่เลย

พี่เปิดหนังสือแม่บ้านทันสมัยที่แม่ซื้อเอาไว้ แม่มีหนังสือทำอาหารเยอะแต่ไม่ทำอาหาร แม่ทำอาหารอยู่ไม่กี่อย่าง คือ ทำน้ำพริกกับแกงส้มที่พ่อชอบ พี่ก็ใช้วิธีเปิดตำราทำไปเพราะอยากทำกับข้าวให้พ่อกิน ก็ทำอาหารไทยมาเรื่อยๆ

คุณอา(อำนาจ คีตพรรณา) เอาหนังสือคุ๊กบุ๊กจากเมืองนอกมาให้ เราอ่านตำราอาหารเป็นหนังสือก่อนนอน อ่านแล้วก็นึกภาพไปเพราะว่าเราไม่ได้ลงมือทำจริงพอทำงานเริ่มมีตังค์ จึงได้ซื้อของมาลองทำมีเพื่อนมาช่วยชิม เวลาที่เราซ้อมร้องเพลงหรือไปต่างจังหวัดจะเป็นวันที่เราได้ฝึกฝีมือการทำอาหารไปด้วย สมัยก่อนเวลาไปเที่ยวกันทำอาหารเยอะมากจนต้องจัดตารางกันว่าใครทำ ไม่งั้นกินไม่ไหว”

จริงจังกับงานอดิเรก

ทำงานเป็นพนักงานบริษัท 19 ปีเต็ม ชีวิตเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน

“เรารู้สึกไม่สนุกเลยถามตัวเองว่าถ้าเราจะหยุดงานออฟฟิศแล้วเราจะทำงานอะไรต่อไป ถ้าไปทำงานบริษัทอื่นมันก็ไม่ตอบโจทย์เรา คิดว่าเราทำอาหารดีกว่าน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ ก่อนลาออกจากงานประจำเลยไปซ้อมเปิดร้านที่เขาใหญ่ก่อนขายศุกร์เสาร์อาทิตย์ พอดูแล้วมันมีความเป็นไปได้พี่ก็เลยลาออก”

เปิดร้านอาหารที่เขาใหญ่ได้ช่วงหนึ่ง มีเหตุให้ต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯตามคำร้องขอของคุณพ่อ ทำให้ “อันจะกิน”ร้านแรกที่สีลมเกิดขึ้น

“เป็นร้านแบบแดกด่วน เพราะอยู่หลังแบงค์ ทราฟฟิกดีแต่มันเหนื่อย พอทำได้สักพักร้านอยู่ตัวพี่ก็ไปทำเอ็กซตร้าให้ลูกค้า ชื่อคุณหนุ่ม เขาถามว่าเราอยากไปทำอาหารที่บ้านแกมั้ย เราลองไปดูก็ทำได้เป็นเฟรนซ์ควิซีน คือ พออันจะกินอยู่ตัวได้ปีก็ทิ้งน้องคนหนึ่งไว้ที่ร้าน ส่วนพี่กับน้องอีกคนก็ไปรับงานพิเศษเป็นเชฟเทเบิ้ล เริ่มเจอคนนอกทำให้มีคนเริ่มรู้จักเรา”

จากสีลมสู่เชียงใหม่

แม้ว่าอันจะกินสีลมจะมีลูกค้าเนืองแน่น แต่ความตั้งใจที่จะย้ายไปอยู่เชียงใหม่หลังเกษียณยังคงยืนหยัด

“พอเริ่มทำบ้านก็ต้องมาดู ประกาศขายร้านที่สีลมมาดูบ้านที่เชียงใหม่ สร้างบ้านแบบตอบโจทย์ตัวเรา คือ เราชอบปาร์ตี้ ชอบทำกับข้าว บ้านเลยออกมาแบบนี้”

คือ มีพื้นที่ครัวที่กว้างขวาง ห้องรับแขกกับห้องรับประทานอาหารเป็นห้องเดียวกันที่เปิดพื้นที่โปร่ง โล่ง มองเห็นสวนหน้าบ้านอันร่มรื่นและได้ยินเสียงนกร้องจุ๊บๆจิ๊บๆ

“บ้านเสร็จแล้วเราก็เพลินกับการปาร์ตี้ จนวันหนึ่งพี่วินท์ โอสถานนท์ เพื่อนสนิทของพี่จะมาเชียงใหม่ เขาบอกว่าคิดถึงอาหารของอันจะกิน จะมาเยี่ยมบ้านด้วยมีเพื่อนมาอีกสองคนซึ่งเป็นคนที่พี่ก้อยไม่รู้จัก ดังนั้นขอจ่ายเงิน ถ้าไม่รับจะไม่มา พี่กลัวเขาไม่มาวันนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของวันละโต๊ะ” พี่ก้อยเล่า

“พี่จัดโต๊ะอย่างที่เห็นวันนี้แล้วก็ถ่ายรูป เขียนลงในเฟซบุ๊ค แล้วครีเอทอัลบั้มขึ้นมาเพื่อที่เราจะกลับมาดูได้ง่าย คิดชื่ออยู่นานเพราะว่ามันต้องเชื่อมโยงกันด้วย นึกถึงคำว่า วันละโต๊ะ เพราะว่าตั้งใจทำวันละโต๊ะ ชื่อนี้จึงมาจากการตั้งชื่ออัลบั้มในเฟซบุ๊ค

แล้วเขียนโพสต์ว่าวันนี้เราจะทำอะไร โดยทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่เราเคยบอกว่าจะทำอะไรที่เชียงใหม่วันนี้เราเริ่มต้นแล้วนะ”

การแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการทำให้แฟน“อันจะกิน”ที่กรุงเทพฯเริ่มขยับตัว ในขณะที่คนเชียงใหม่ก็ได้รู้จัก “อันจะกิน” ผ่านเฟซบุ๊คของกลุ่มทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จอง“วันละโต๊ะ”ในวันปีใหม่ปีแรกของอันจะกินวิลล่า

“พี่โจ้เป็นหมอฟัน ชวนเพื่อนหมอฟัน 15 คน แต่ละคนกินข้าวไปก็โพสต์เฟซบุ๊คไป ทำให้พี่ได้ลูกค้าเป็นคนที่เชียงใหม่ โดยที่ไม่เคยคิดมาก่อน เพราะคิดแต่ว่าน่าจะเป็นเพื่อนเราที่มาจากกรุงเทพฯมากกว่า”

อันจะกินวิลล่าจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายด้วยโซเชี่ยลมีเดียในเครือข่ายของทันตแพทย์

สบายๆไม่ใช่ไฟน์ไดนิ่ง

ที่เคยฝันไว้ว่าจะทำอาหารวันละโต๊ะ โดยเป็นผู้กำหนดเมนูเอง ขอเพียงบอกมาว่ารับประทานอะไรไม่ได้บ้าง เป็นจริงแล้ว ว่าแต่อาหารที่เสิร์ฟนั้นมีอะไรบ้าง

“พีไม่ใช่คนไฟน์ไดนิ่งเป็นคนสบายๆ งั้นทำอาหารแบบที่เราเคยทำเสิร์ฟให้เพื่อนๆเรากินเหมือนตอนอยู่วงคอรัสก็แล้วกัน เราเคยถือปลาตัวโตๆ ถือสลัดชามโตๆมาเสิร์ฟ เราก็ทำแบบนั้นเพราะว่ามันเป็นตัวเรา ไม่ขัดเขิน

อาหารที่เสิร์ฟจะเริ่มจากซุป สลัด จานปลา เนื้อสัตว์อย่างอื่น (เนื้อวัวหรือแกะ) พาสต้า และของหวาน สมัยก่อนเสิร์ฟชามะขาม(ชาดำกับน้ำมะขามมาเจอกัน) เป็นเวลคัมดริงค์ ที่เชียงใหม่มะขามเปรี้ยวหายากมากเลยตัดปัญหา ทำน้ำมะนาวน้ำผึ้งโซดา ทำไปชิมไปจนจดสูตรลงตัว” รสชาติเป็นอย่างไรท้ายเรื่องเรานำสูตรของพี่ก้อยมาฝากกัน

มาดูเมนูวันละโต๊ะของเราในวันนี้กันบ้าง หลังจากปล่อยให้พวกเราเอนจอยกับเวลคัมดริงค์ในโถแก้วที่เติมกันได้ตามใจแล้ว ก็ได้เวลาสำหรับมื้อกลางวันกับซุปร้อนๆ Roasted butternut squash soup ซุปที่ปรุงจากผลบัตเตอร์นัทสควอชที่เนื้อให้รสชาติมัน

“ซุปที่เสิร์ฟที่บ้านจะมีความเป็นตามฤดูกาล เช่น ช่วงนี้บัตเตอร์สควอชออกเยอะ เราก็นำมาใช้ เนื้อให้รสชาติมันดี กว่าจะมาเป็นซุปแต่ละถ้วยต้องเริ่มที่ความตั้งใจ เพราะตั้งต้นที่น้ำสต็อกก่อน บ้านเราทำน้ำสต็อกไก่ทำอาหารทุกอย่างจะทำให้อาหารอร่อย แม้แต่แกงส้มถ้าขึ้นด้วยน้ำสต็อกจะอร่อย เอาเครื่องแกงส้มผสมกับน้ำสต็อกปรุงรสนิดเดียวก็อร่อยแล้ว ไม่เหมือนเอาพริกแกงส้มขึ้นกับน้ำเปล่ากว่าจะปรุงรสให้อร่อยได้ยาก”

นี่ไงเสน่ห์ของวันละโต๊ะ ที่นอกจากจะได้ความเป็นส่วนตัวแล้วยังสอบถามที่มาของอาหารแต่ละจานได้อย่างออกรส แถมได้เคล็ดลับดีๆกลับบ้านอีกด้วย

Mixed green with roasted mini ball pumpkin and seared scallop with sesame cream salad เป็นจานสลัดผักสดจานต่อมาที่เรียกความสดชื่นและได้ลิ้มรสน้ำสลัดที่มีเบสเป็นมายองเนสเพิ่มความหอมมันของงาไทยใหญ่ที่นำมาคั่วแล้วปั่นผสมลงไปในน้ำสลัด

Sea bass piccata เป็นจานปลาที่เนื้อสุกกำลังดีหนังกรอบชุ่มด้วยซอสไวน์ขาว ต่อด้วยจานไก่ Chicken with creamy sun dried tomato parmigiano sauce สะโพกไก่เคี่ยวในซอสมัสตาร์ด ไวน์ขาว และมะเขือเทศอบแห้ง รสเข้มข้น โดยมีผัดถั่วแขกร้อนๆมาให้รับประทานเคียงกัน

Riso pasta with tiger prawn จานนี้เรายกให้เป็นไฮไลท์เพราะมีทั้งรสเผ็ดแล้วเปรี้ยว ดังที่เจ้าของบ้านว่าอาหารทะเลต้องมีมะนาว

มาถึงตอนนี้เพื่อนๆส่งเสียงเซ็งแซ่ว่า “ไก่ก็อร่อย ปลาก็เป็นไฮไลท์นะ” คงต้องบอกกันว่ารสนิยมความอร่อยนี่เป็นของใครของมันนะคะ

วันละโต๊ะปิดท้ายด้วยทีรามิสุ เสิร์ฟพร้อมชาลิ้นจี่ ทั้งหมดนี้สนนราคาคนละ 950 บาท (ถ้าเป็นเนื้อสัตว์อื่นๆราคาจะเพิ่มตามวัตถุดิบ)

ได้มาสัมผัสฝันเล็กๆของคนชอบทำอาหารในบรรยากาศของอันจะกินวิลล่า ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมคนที่เคยมาแล้วถึงอยากจะกลับมาอีก แล้วยังได้มีเวลาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า “ฝันเล็กๆ”ของเราได้ลงมือทำบ้างแล้วหรือยัง

หมายเหตุ : อันจะกินวิลล่า โทร. 09 0561 4296 FB เพจ “อันจะกินวิลล่า”

เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

ภาพ  : เพลินพิศ หันหาบุญ