จับตา“เจฟฟ์ เบซอส”แบ่งทรัพย์สินหลังหย่าภรรยา

จับตา“เจฟฟ์ เบซอส”แบ่งทรัพย์สินหลังหย่าภรรยา

นักลงทุนหวั่นส่งผลกระทบต่ออนาคตบริษัทอเมซอน และส่งผลโดยตรงต่ออำนาจการบริหารบริษัทของ“เจฟฟ์ เบซอส”

หลัง“เจฟฟ์ เบซอส” เจ้าของอเมซอน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก และนางแมคเคนซี ภรรยา ประกาศแยกทางกันเมื่อวันพุธ (9ม.ค.)หลังอยู่กินกันมานาน 25 ปี สิ่งที่สื่อทั่วโลกจับตามองคือทรัพย์สิน 1.36 แสนล้านดอลลาร์ว่า สามีภรรยาคู่นี้จะแบ่งกันอย่างไร

เวบไซต์ข่าวซุบซิบคนดังทีเอ็มแซด รายงานว่า สามีภรรยาเบซอส ไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรส ซึ่งหมายถึงการแบ่งสมบัติออกเป็นสอง ซึ่งการแบ่งสมบัติครั้งนี้ จะเป็นเรื่องซับซ้อนทีเดียว เพราะนอกจากเงินสดมหาศาล ทั้งคู่ยังมีที่ดิน 4 แสนเอเคอร์ ถือเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่สุดในประเทศ และหากแบ่งสมบัติเท่ากันจริง อาจจะมีผลถึงการจัดอันดับเศรษฐีโลกเลยทีเดียว

นางแมคเคนซี นักเขียนนวนิยายวัย 48 ปี จะกลายเป็นสตรีร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สิน 6.8 หมื่นล้าน และอาจทำให้นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ เจ้าของทรัพย์สิน 9.25 หมื่นล้านดอลลาร์ กลับขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งโลกอีกครั้งแทนนายเบซอส วัย 49 ที่ทรัพย์สินจะหดหายไปเหลือราว 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์

นางแมคเคนซี ทัตเทิล คบหากับนายเบซอส มาตั้งแต่ยังไร้ชื่อเสียงและร่ำรวย ทั้งคู่รู้จักกันในปี 2535 ก่อนแต่งงานในฟลอริดาในปีถัดมา ขณะที่นายเบซอส ยังเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ย่านวอลสตรีท ก่อนหันมาทำธุรกิจเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

เธออยู่เคียงข้างสามีตั้งแต่บริษัทเริ่มต้นจากในโรงรถของตัวเองในซีแอตเทิล เมื่อปี 2537 มาจนประสบความสำเร็จมหาศาลในวันนี้ ทั้งคู่มีบุตร 4 คน เป็นชาย 3 คน กับบุตรสาวบุญธรรม 1 คน อายุไล่กันถึงวัยรุ่นตอนปลาย

นายเบซอส อดีตเคยเป็นผู้ถือหุ้นหลักในอเมซอน ปัจจุบัน ถืออยู่ 16% หากยึดตามราคาหุ้นเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดี (10ม.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น ประเมินมูลค่าอยู่ที่ราว 1.3 แสนล้านดอลลาร์ และหากข้อตกลงหย่าร้างหมายถึงการแบ่งครึ่งทรัพย์สิน นายเบซอสจะยังคงบริหารอเมซอนต่อไปได้ด้วยหุ้นที่ถืออยู่ 8%

จนถึงขณะนี้ การแยกทางของผู้บริหาร ไม่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น และทั้งคู่ระบุว่ายังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าทั้งคู่อาจโอนหุ้นไปอยู่ในรูปของทรัสต์ หรือกลไกทางกฎหมายอื่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจเดิมในกลุ่มผู้ถือหุ้น

มาร์กาเก็ต ริสนาร์ ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย ไอยูพียูไอ ให้ความเห็นว่า นางแมคเคนซี อาจเลือกมอบสิทธิในการโหวตหากเธอได้รับหุ้นครึ่งหนึ่ง เพราะสิทธิในการโหวตอาจไม่ได้สำคัญมากนักในกรณีนี้ เพราะนายเจฟฟ์ เบซอส เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอยู่แล้ว แต่อิทธิพลที่เขามีในอเมซอนมาจากตำแหน่งในบริษัท ทั้งในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอ และหากต้องการปกป้องบริษัทไว้ พวกเขาจะต้องหาทางให้ผลประโยชน์แก่นางแมคเคนซี โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารบริษัท

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่อาจมีข้อตกลงหลังแต่งงาน ที่อาจจะได้รับการเปิดเผยในไม่ช้า หรืออาจลงเอยด้วยการหย่าร้างไม่ดีนัก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะมีผลต่อบริษัทอเมซอน และต่อตลาดวอลล์สตรีท และในแง่ภาพลักษณ์