3ทางเลือก 'กกต.' ปมร้อนเลือกตั้ง150วัน

3ทางเลือก 'กกต.' ปมร้อนเลือกตั้ง150วัน

จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันใด แต่หากดูตามกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการภายใน 150 วันนับแต่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้

ดังนั้นหากนับจากวันที่ 11 ธ.ค.2561 ซึ่งกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้ไปอีก 150 วัน เท่ากับว่า การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. นี้

แต่ทว่าขณะนี้กลับมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “กรอบ150วัน” ในการจัดการเลือกตั้งว่า จะหมายรวมไปถึงเพียงแค่ “วันหย่อนบัตร” หรือ “นับรวมไปถึงการรับรองผลส.ส.” ด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่มีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว การเลือกตั้งที่จำมีขึ้นอาจจะถูกตีความว่า “เป็นโมฆะ” ได้

ในส่วนของกูรูกฎหมายคนสำคัญอย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ยังออกมายอมรับว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจริงๆ เนื่องจากมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใน2มาตราทั้ง ในมาตรา 85 ที่ระบุว่าจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จไม่เกิน 60 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 268 ระบุให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

ดังนั้นหากเป็นไปตามที่ “วิษณุ” ระบุ กลายเป็นเป็นว่า “เผือกร้อน” จะไปตกอยู่ที่กกต. ที่จะเป็นผู้บริหารจัดการซึ่งหากมีข้อสงสัยก็อาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยซึ่งคำวินิจฉัยศาลจะถือเป็นที่สิ้นสุด

หรืออีกหนึ่งทางเลือกที่ “วิษณุ” เสนอคือ หากกกต.จัดการเลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในกรอบ 150 วัน หรือภายในวันที่ 9 พ.ค. ทุกอย่างก็จบ

ขณะที่ความเห็นจากทางฝั่งอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อาทิ “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” ก่อนหน้านี้ ได้ออกมายืนยันอย่างชัดเจนในประเด็นดังกล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 268 ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับจากที่กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้

นั่นหมายถึง “ให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 9 พ.ค.ซึ่งในระยะเวลา 150 วันดังกล่าว ไม่รวมถึงช่วงการนับคะแนนหรือรับรองผลเลือกตั้งส.ส.ที่จะต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง”

เท่ากับว่าหากไล่ย้อนดูความเห็นทั้งจากรองนายกฯวิษณุ หรือทางฝั่งกรธ.แล้ว ขณะนี้กกต.มี “3 ทางเลือก” ในการจัดการกับ “เผือกร้อน” ชิ้นนี้

1.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เพื่อป้องกันการยื่นตีความที่อาจส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลัง 2.จัดการเลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในกรอบ 150 วันหรือภายในวันที่ 9 พ.ค. เพื่อตัดปัญหาทั้งหมดตามที่วิษณุแนะนำ และ 3.ยืนยันตามที่กรธ.ระบุคือ จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน + รับรองผลอีก 60 วัน(ภายในเดือนก.ค.)

จากนี้คงต้องดูท่าจากทางกกต.ว่า จะมีข้อสรุปในประเด็นนี้อย่างไร หากท้ายที่สุดไปจบที่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ สิ่งที่จะตามมาหนีไม่พ้นข้อกังวลเกี่ยวกับวันเลือกตั้งที่อาจจะมีผลกระทบตามไปด้วย

หากเป็นไปตามที่กล่าว ประเด็นนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่จะพุ่งเป้าไปที่ “รัฐบาล”และ “คสช.” อย่างเต็มๆ!!