ฉะเชิงเทรารุกเกษตรปลอดภัย สศก.หนุนปลูกพืชสมุนไพร

ฉะเชิงเทรารุกเกษตรปลอดภัย สศก.หนุนปลูกพืชสมุนไพร

สศก.ประเมินรายได้เกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา แนะชาวนาในพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่มีความเหมาะสมได้ผลตอบแทนต่ำ ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชสมุนไพร-เครื่องเทศ ระบุใช้น้ำน้อยที่มีตลาดรองรับแน่นอน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สินค้าเกษตร 4 รายการหลักที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ ข้าวนาปี มะม่วงน้ำดอกไม้ กุ้งขาวแวนนาไมและปลากะพง โดยเกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไรต่อไร่) จากการผลิตข้าวนาปีในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและปานกลางเฉลี่ย 1,822 บาท ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยลดเหลือ 1,444 บาท มะม่วงน้ำดอกไม้ 13,738บาท กุ้งขาวแวนนาไม 17,711 บาทและปลากะพง 63,519 บาท

สศก.ได้แนะนำเกษตรกรปรับเปลี่ยนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ให้เลือกปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับแน่นอน ได้แก่ พืชสมุนไพร/เครื่องเทศ อาทิ ค่าต้นทุนการผลิต 11,949 บาท ผลตอบแทน 46,278 บาท คิดเป็นผลกำไร 34,329 บาท

ตะไคร้ต้นทุนการผลิต 9,281บาท ผลตอบแทน 20,868บาท คิดเป็นผลกำไร 11,586 บาท (ต่อไร่) ซึ่งผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเครื่องเทศปรุงรสอาหาร หรือตลาดบริโภคในจังหวัดและนอกจังหวัด จะมีพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงในแหล่งผลิต ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งอีกด้วย

การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนระบบปิด ต้นทุนการผลิต 266,223 บาท ผลตอบแทน 346,752 บาท คิดเป็นผลกำไร 80,528 บาท(ต่อไร่ต่อปี) สามารถเก็บขายเมื่ออายุได้ 15 วัน และพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงแหล่งผลิต พืชผักปลอดภัย (กางมุ้ง) อาทิ ผักกวางตุ้งมีต้นทุนการผลิต 9,246 บาท ผลตอบแทน 27,328 บาท คิดเป็นผลกำไร 18,081 บาท

ผักคะน้ามีต้นทุนการผลิต 10,225 บาท ผลตอบแทน 29,342 บาท คิดเป็นผลกำไร 19,117 บาท (ต่อไร่ต่อปี) โดยเกษตรกรสามารถควบคุมการผลิต ลดปัญหาสินค้าล้นตลาด โดยเฉลี่ยของผักประมาณ 45 วันต่อรุ่น สามารถเก็บจำหน่ายได้แล้ว และเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพอีกด้วย

ภาพ-oae.go.th