ศาลยุติธรรมตั้ง 'สราวุธ' นั่งปธ.กก.ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล

ศาลยุติธรรมตั้ง 'สราวุธ' นั่งปธ.กก.ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล

ศาลยุติธรรมตั้ง "สราวุธ" นั่งปธ.คณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ตั้งเลขาฯ ก.พ.-คณาจารย์สถานการศึกษาดังด้านเทคโนโลยี ร่วมวางโรดแมป ตั้งเป้าสู่ระบบดิจิทัล D-Court ปี 2020

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.62 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมี "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการฯ มีเป้าหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลภายในเวลาที่รวดเร็วและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในงานส่งเสริมงานตุลาการ งานวิชาการ งานสนับสนุนศาลยุติธรรม เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยศาลยุติธรรมวางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น D-Court (ดิจิทัลคอร์ท) ในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020)

ขณะที่ปัจจุบันศาลพัฒนาระบบเทคโนโลยี นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเสริมสร้างช่องทางการยื่นฟ้อง-ส่งคำร้องของคู่ความ เช่น e-Filing ในคดีแพ่ง (แบบออนไลน์) อย่างคดีร้องขอจัดการมรดก , คดีผู้บริโภค ที่ประหยัดค่าใช้จ่าย-ระยะเวลาการเดินทาง และสนับสนุนระบบการเชื่อมข้อมูลทางคดี การขอคัดคำพิพากษาจากศาลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพลักษณะ E-Court นั้นก็ยังดำเนินควบคู่กันไป โดยเราจะต่อยอดจากการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ สู่ระบบดิจิทัล ทันกับสภาวะการณ์ของสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะพิจารณาในเบื้องต้นว่าส่วนปฏิบัติการใดที่ศาลยุติธรรมจะพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบใดบ้าง

โดยสำนักงานศาลยุติธรรม มีกำหนดในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.นี้ "นายสราวุธ" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะแถลงผลงานรอบปีที่ผ่านมา พร้อมแถลงรายละเอียดเป้าหมายการพัฒนาระบบงานสำนักงานศาลยุติธรรมสู่ระบบดิจิทัล D-Court ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) นั้น "นายสราวุธ" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ลงนามเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ. และคณาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมจากสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านคอมพิวเตอร์ของศาลยุติธรรม รวมทั้งสิ้น 8 คน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ นี้ จะมีอำนาจหน้าที่ 4 ข้อ 1.กำหนดกระบวนการและขั้นตอน หรือโรดแมพ (Roadmap) ในการเปลี่ยนแปลงสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดสู่ระบบดิจิทัล 2.กำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสาร การเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล วัฒนธรรมองค์กร เพื่อการเติบโตในระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืน 3.กำหนดเทคโนโลยีที่เหมาะสมปรับใช้กับภารกิจของสำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานในสังกัดเพื่อมุ่งสู่ศาลยุติธรรมดิจิทัล (Digital Court) 4.ดำเนินการในกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Tranformation)