AIP โนว์ฮาวจากแอร์บัสถึงไทย ชี้ชะตาอนาคตจิสด้า

AIP โนว์ฮาวจากแอร์บัสถึงไทย ชี้ชะตาอนาคตจิสด้า

จิสด้ารับถ่ายทอดแพลตฟอร์มบริหารจัดการบิ๊กดาต้าอัจฉริยะ “เอไอพี” จากแอร์บัส เป็นไปตามเงื่อนไขการพัฒนาบุคลากรในสัญญาดาวเทียมธีออส2 ระบุไทยเป็นชาติแรกใช้ข้อมูลดาวเทียมอัจฉริยะเพื่อประโยชน์พลเรือน จากลูกค้าเกือบทั้งหมดใช้กำหนดยุทธศาสตร์ทางทหาร

โครงการพัฒนาดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือธีออส 2 มูลค่าเกือบ 7 พันล้านบาท ที่บริษัท แอร์บัส ดีเฟน แอนด์ สเปซ เอสเอเอส จำกัด ในเครือ Airbus ฝรั่งเศส ชนะการประมูลและได้เซ็นสัญญาจัดจ้างไปแล้วนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ ดาวเทียมหลักสร้างที่ฝรั่งเศส, ดาวเทียมเล็ก 50-100 กิโลกรัม สร้างภายในประเทศไทย โดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอร์บัส เป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรด้านดาวเทียมของไทย ส่วนสุดท้ายคือ การร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มกำหนดนโยบายแบบอัจฉริยะ หรือ AIP (Actionable Intelligence Policy Platform) ที่ช่วยทำให้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม ลดความขัดแย้งและซ้ำซ้อนทางนโยบายจากหลายหน่วยงาน ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม

นายดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ นักพัฒนานวัตกรรมชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยว่า จิสด้ากำหนดที่จะนำร่องทดลองใช้แพลตฟอร์มเอไอพีในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และ จ.น่าน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้การบริหารจัดการในพื้นที่มีความเป็นเอกภาพภายใต้ข้อมูลชุดเดียวกันทั้งด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น


ทั้งนี้ อีอีซีเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินการระยะยาว มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติตามภารกิจของหน่วยงาน จึงมีกิจกรรม โครงการและนโยบายต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งไม่มีทางที่จะวิเคราะห์ข้อมูลแผนงานโครงการได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละภาคส่วน ซึ่งมีนโยบายเป็นของตนเองนั้น อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา ภาคประชาชนอาจมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง หรือให้ความคิดเห็น ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีให้มีความสอดคล้องกันในทุกมิติและเท่าเทียมกันทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเซกเตอร์และระดับบุคคล ซึ่งถือเป็นบิ๊กดาต้าที่สำคัญ คงต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความ Intelligence ซึ่งก็คือ AIP 

AIP จะเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ และเพื่อเสริมหรือทดแทนการบริหารจัดการด้วยวิธีแบบเดิมๆ โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในอีอีซี ซึ่งเป็นรูปแบบของการประมวลผลแล้วนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุดให้กับหน่วยงานในระดับนโยบาย ก่อนจะถูกส่งต่อมายังหน่วยปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ต่อไป นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเอไอพีจะช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลแทนสมองของมนุษย์ ช่วยให้มองเห็นภาพความเชื่อมโยงของปัญหาและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มีความสมดุล และความถูกต้อง ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา ระบบยังสามารถบอกได้อีกว่า การแก้ปัญหานั้น หน่วยงานใดบ้างต้องร่วมกันดำเนินการ มีแนวทางดำเนินการอย่างไร ใช้ทรัพยากร เช่น กำลังคนหรืองบประมาณเท่าไร

องค์ประกอบของเอไอพี คือ ข้อมูลบิ๊กดาต้า โดยเฉพาะข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งมีอยู่ประมาณมหาศาล ร่วมกับข้อมูลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อมูลนโยบายของรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานท้องถิ่น ข้อมูลในแผนแม่บทอีอีซีซึ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน ทำให้มีตัวชี้วัดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ตลอดจนข้อมูลการสำรวจจากประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ

“เราต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ไว้ในระบบแล้วทำการสังเคราะห์ เพื่อให้รู้ว่านโยบายต่างๆ หรือกิจกรรมโครงการที่มีอยู่และได้ดำเนินการไปแล้วนั้น จริงๆ แล้วสร้างความยั่งยืนได้จริงหรือเปล่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดลงจริงไหม หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดีขึ้นจริงหรือไม่ ปัญหาอยู่ตรงไหน โดยอาศัยความเชื่อมโยงของข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของจิสด้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าใครมีข้อมูลก็จะแชร์เข้ามา”

นายดิชพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอพีจะใช้เวลา 2 ปีหลังการลงนามกับแอร์บัส ขณะนี้จึงถือเป็นเฟสแรกที่อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด กรอบหรือโครงสร้างของแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในพื้นที่อีอีซี โดยร่วมกับแอร์บัสซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า อีกทั้งมีการทำงานประสานใกล้ชิดกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกรศ. เพื่อให้ได้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ บุคลากรของจิสด้าจึงมีเวลา 2 ปีในการเรียนรู้การพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี AIP จากแอร์บัส เบื้องต้นกำหนดใช้ให้อีอีซีเป็นโจทย์นำร่อง จากนั้นจะขยายนำไปใช้ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เช่น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้วิธีที่ได้เรียนรู้มาจากแอร์บัส

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกที่แอร์บัสถ่ายทอดและช่วยพัฒนาระบบเอไอพี ที่ผ่านมาไม่เคยทำกับประเทศใดมาก่อน เพราะการนำข้อมูลดาวเทียมมาวางแผนช่วยการตัดสินใจเชิงนโยบายนี้ยังไม่เคยใช้กับภาคพลเรือน แต่เกือบทั้งหมดเขานำไปใช้กับการตัดสินใจทางนโยบายหรือยุทธศาสตร์ทางการทหาร นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารจิสด้าที่มองว่า เทคโนโลยีนี้หากใช้ประโยชน์กับทางการทหารได้ ก็ควรจะนำมาใช้กับพลเรือนได้ด้วยเช่นกัน จึงถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งในโครงการธีออส 2 อีกทั้งถือเป็นอนาคตของจิสด้าด้วย ที่ต้องก้าวข้ามจากการให้บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่เอกชนสามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน ไปเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง