'กฤษฏา' สั่งระดมสูบน้ำกู้วิกฤติใต้สู่ปกติใน 1 สัปดาห์

'กฤษฏา' สั่งระดมสูบน้ำกู้วิกฤติใต้สู่ปกติใน 1 สัปดาห์

"กฤษฏา" สั่งระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำทั่วประเทศ ช่วยอุทกภัยภาคใต้ให้กลับสู่ปกติภายใน 1 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้เตรียมพร้อมระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากจังหวัดที่ไม่ประสบภัยทั่วประเทศพร้อมมาเสริมในพื้นที่ภาคใต้ และจากการประเมินสถานการณ์ พายุ ปาบึก แม้จะออกจากไทยวันนี้ ยังมีปริมาณฝนสะสมจนถึงวันที่ 6 ม.ค.ประมาณ 300 มิลลิเมตร ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ซึ่งถือว่า เป็นฝนหนักมาก โดยกรมชลประทาน ได้วางแผนรับสถานการณ์มาล่วงหน้า จึงคาดว่า จะสามารถเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ได้สำรองเครื่องสูบน้ำไว้อีก 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 82 เครื่อง รถขุดและรถแทรกเตอร์ 108 คัน สะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ 5 ชุด และเครื่องจักร-เครื่องมืออื่นๆ กระจายอยู่ครอบคลุมทั้ง 16 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์พายุ ปาบึก ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ หลังจากที่เคลื่อนขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศูนย์กลางพายุบริเวณอำเภอช้างกลาง ทำให้ที่อำเภอปากพนังมีฝนตกเฉลี่ย 117 มิลลิเมตร อำเภอเมืองฝนตกเฉลี่ย 225 มิลลิเมตร บริเวณที่ลุ่มต่ำในอำเภอเมืองน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่งคลองสายสำคัญ ๆ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่องโดยใช้เครื่องสูบน้ำ 55 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำ 50 เครื่องที่ได้ติดตั้งไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว และใช้เครื่องจักรหนัก 40 คันเปิดทางน้ำโดยการขุดขยายปากแม่น้ำที่จะออกสู่ทะเลและขุดลอกสันดอนอออกเพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เช้านี้ปริมาณฝนเริ่มลดลง พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชตามซอยต่างๆ มีน้ำท่วมขัง 10 – 30 เซนติเมตร ระดับน้ำในลำน้ำสำคัญได้แก่ ต้นน้ำคลองท่าดี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.10 เมตรแล้ว ส่วนในเขตอำเภอเมืองต่ำกว่าตลิ่ง 2 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง คลองนครน้อย หน้าเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช น้ำสูงกว่าตลิ่ง 20 เซนติเมตรและบ้านวังไทร อำเภอลานสกาที่เมื่อคืนนี้ล้นตลิ่ง ขณะนี้ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 1.09 เมตร”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า ขณะนี้ศูนย์กลางของพายุโซนร้อนปาบึกอยู่ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่จะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาในหลายพื้นที่และมีลมกรรโชกแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ตและกระบี่ พายุเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า จะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในวันนี้ (5 มกราคม 62) แต่จะยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 1 วัน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งสูบน้ำและระบายน้ำในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กล่าวถึงผลคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ว่า ได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณแล้วพร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อพายุเคลื่อนสู่ฝั่งและจากการวิเคราะห์รายพื้นที่ พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่มีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเพราะฝนยังตกต่อเนื่องถึงวันพรุ่งนี้

ล่าสุดสำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น โดยอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.66 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 96.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.57 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33.43 ล้านลูกบาศก์เมตร

เดิมวานนี้ (4 มกราคม 62) ได้เพิ่มการระบายน้ำออกจากอ่างเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับฝนหนัก แต่เส้นทางของพายุที่ขยับลงตอนล่างของภาค ทำให้น้ำไหลเข้าไม่มาก ในวันนี้จึงจะปรับลดลงเหลือ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลาคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 38.82 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 340.18 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีเขื่อนที่รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 239.82 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 698.18 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายทองเปลวกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่คาดการณ์ว่า น้ำจะล้นมี 7 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยสามเขา จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำคลองจะกระและอ่างเก็บน้ำคลองบึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอ่างเก็บน้ำคลองหยา จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้น 19 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านกระหร่างสาม อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยอ่างหิน อ่างเก็บน้ำยางชุม อ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น อ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสและอ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน จังหวัดนครศรีธรรมราช อ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง อ่างเก็บน้ำห้วยลึก จังหวัดกระบี่ อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว และอ่างเก็บน้ำบ้านพรุเตย จังหวัดตรัง อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อ่างเก็บน้ำป่าบอน อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม จังหวัดตรัง จ.สงขลา และอ่างเก็บน้ำคลองหลา จังหวัดสงขลา

นายทองเปลวกล่าวว่า การเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและน้ำที่ท่วมขังนั้นจะใช้ข้อมูลจากสถานีสำรวจทางอุทกวิทยาตรวจวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำซึ่งมีทั้งสถานีวัดน้ำฝนและน้ำท่ามาใช้ในการวิเคราะห์ตามเวลาจริง แล้วคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมได้แก่ ต้องพร่องน้ำออกจากอ่างเพิ่มหรือไม่ ปริมาณเท่าใด ต้องนำเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งในที่ใดเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ลดน้อยลงมากที่สุด