เคทิสส่ง ‘อะกริเทค’  ปฏิวัติเกษตรไร่อ้อย

เคทิสส่ง ‘อะกริเทค’  ปฏิวัติเกษตรไร่อ้อย

“เคทิส”ขานรับเทรนด์เทคโนโลยีเกษตร เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เล็งใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่ คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ รวดเร็วและลดต้นทุน

“เคทิส”ขานรับเทรนด์เทคโนโลยีเกษตร เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เล็งใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่ ส่งผลให้คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ รวดเร็วและลดต้นทุน 
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ความสำคัญกับงานวิจัย จึงได้ตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมด้านการเกษตร ในแต่ละปีลงทุนวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างครบวงจร โดยทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับองค์กรและสังคม 


เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้จัดการ


  ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายไร่ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเคทิส (KTIS) กล่าวว่า เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อการเกษตร (Agri Tech) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นเทรนด์ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทกับเกษตรกรไทย เหมือนกับโมเดลธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันเข้าถึงทุกคนทุกวัย
ในอนาคตต่อไปเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะไม่ใช่เกษตรกรในรูปแบบเดิม ที่ใช้แรงงานในการปลูก ให้น้ำหรือหว่านปุ๋ย แต่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการแปลงอ้อยแทน โดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติต่างๆ ทำงานแทนแรงงานคนได้เกือบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปลูกโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยวางแผน ส่วนการเตรียมดินใช้ระบบจีพีเอสระบุพิกัดพื้นที่ร่วมกับอินฟราเรดในการวางแผนเกลี่ยดินให้เรียบแม้ว่าพื้นที่จะเอียงหรือชันรวมถึงการควบคุมรถที่ใช้ในไร่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคนขับ เช่น รถเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะสามารถควบคุมได้ด้วยสมาร์ทดีไวซ์ การบำรุงให้ปุ๋ยหรือพ่นสารต่างก็สามารถใช้โดรนและรถไร้คนขับทำแทนแรงงานคน ฉะนั้น ทักษะสำคัญสำหรับเกษตรกรคือ การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อตัดสินใจว่า วิธีใดที่จะได้ผลผลิตมากสุด


“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนทำให้ชาวไร่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งรับช่วงต่อจากพ่อแม่ มีมุมมองแนวคิดการใช้แรงงานให้น้อยลงแต่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด AgriTech จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็ว สม่ำเสมอและแม่นยำ ไม่ใช่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพแต่ยังเชื่อมโยงไปถึงการเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร”


ขณะที่ความท้าทายของบริษัท คือ การพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดเทคโนโลยีที่ช่วยวางแผน ลดความผิดพลาดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย จากแนวคิดเดิมที่ต้องตามทันเทคโนโลยี แต่อนาคตต้องก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอ้อยได้อย่างแท้จริง


ภาพถ่ายดาวเทียมเพิ่มความแม่นยำ


ภูมิรัฐ กล่าวว่า ชิ้นงานวิจัยไฮไลต์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือ การพัฒนาสายพันธุ์อ้อยเคทิส คาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถปลูกทดแทนพันธุ์ที่ใช้ในปัจจุบัน และล่าสุดกำลังศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กลุ่มเคทิสจากปัจจุบันที่ประมาณการอ้อยจากนักส่งเสริมที่เข้าไปดูไร่อ้อยในเครือ ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดทั้งจากการบันทึกข้อมูลและการทํางาน


 เนื่องจากโรงงานเกษตรไทยเพียงโรงเดียวมีพื้นที่ถึง 7 แสนไร่ จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร สามารถถ่ายภาพได้ทุกวันแล้วนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ยกตัวอย่าง การเลือกชนิดของปุ๋ยที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ รูปแบบไถ่พรวนที่ช่วยเพิ่มปริมาณตันอ้อยต่อไร่ ทำให้สามารถพัฒนาไร่อ้อยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ต้องการทราบว่าในแต่ละปีจะมีอ้อยกี่ตัน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจวางแผนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ 1-2 ปีต่อจากนี้


“ผมไม่ได้หมายความว่า การทำงานในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ แต่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในเวลานี้คาดเคลื่อนไม่เกิน 5-10% ซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดการ แม้ว่าเป็นตัวเลขไม่มาก แต่ถ้ามองภาพใหญ่จะเห็นผลกระทบมหาศาลเพราะมีการขายล่วงหน้า หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและลดการงานของพนักงานที่เป็นงานประจำ ไปช่วยส่งเสริมการปลูกอ้อยและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกไร่ได้มากขึ้น ”


นอกจากนี้จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ชาวไร่ใช้จัดการและเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง จากเดิมจัดเก็บข้อมูลโดยทางโรงงาน จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยพัฒนาไร่อ้อยให้มีผลผลิตดีขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โรงงานสามารถรับรู้ข้อมูลความต้องการลูกไร่แล้วจัดการเสริมสร้างทักษะความรู้นั้น ทั้งนี้ เนื่องจากการทำเกษตรให้ได้ผล ต้องอยู่บนข้อมูลที่แท้จริงและความรู้ใหม่เพื่อการตัดสินใจ แทนการใช้ประสบการณ์ตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายายเหมือนในอดีต