'บิ๊กดาต้า' ในโลก 'เทเลเมติกส์' หัวใจความสำเร็จธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์

'บิ๊กดาต้า' ในโลก 'เทเลเมติกส์'  หัวใจความสำเร็จธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์

บิ๊กดาต้าถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาโอกาสทางธุรกิจ เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

ยุคที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ถูกเชื่อมโยงสู่โลกอินเทอร์เน็ต การใช้ประโยชน์จาก “บิ๊กดาต้า” ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรม 

ปิยวดี หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี กล่าวว่า บิ๊กดาต้าถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาโอกาสทางธุรกิจ เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง โดยมีการนำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์(Telematics) มาผสมผสานใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่มรถ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ

“เทเลเมติกส์ ไอโอที และบิ๊กดาต้า สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างประโยชน์ 2 ประการ คือ ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินและการบำรุงรักษายานยนต์ชะลอความสึกหรอของเครื่องยนต์ สำคัญช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย”

เชื่อมไอโอที ต่อยอดบิ๊กดาต้า

ที่ผ่านมา 9 ใน 10 ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากมนุษย์ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นชี้ว่า สาเหตุหลักอันดับ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนของไทย คือ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด 2.ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด และ 3.ขับรถตามกระชั้นชิด

ดังนั้น สิ่งสำคัญลำดับแรกในการป้องกันและลดจำนวนอุบัติเหตุคือ การป้องกันพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย การแก้ปัญหาดังกล่าวเทเลเมติกส์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีความปลอดภัยที่สามารถช่วยป้องกันและแจ้งเตือนให้ผู้ขับรถทราบความเสี่ยงอันตรายในขณะขับรถ ตรวจสอบเมื่อคนขับตาไม่มองถนน มือไม่จับพวงมาลัย สมองไม่มีสติในการควบคุมรถซึ่งจะเพิ่มความระมัดระวังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันเวลา

"เทเลเมติกส์เป็นโซลูชั่นใหม่ที่ทำหน้าที่เก็บรวมรวบและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรถยนต์และผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านเทคโนโลยีไอโอที โดยการเชื่อมต่อและผสมผสานอุปกรณ์หลายชนิดเข้าด้วยกัน ผ่านการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตและส่งข้อมูลมารวบรวมไว้ยังเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า" 

สำหรับตัวอย่างการวิเคราะห์เชิงบิ๊กดาต้าผ่านเทคโนโลยีเทเลเมติกส์ เช่น การจัดการความเสี่ยงจากพฤติกรรมการขับรถ(Risk Management) การจัดเส้นทางการเดินรถ(Routing Optimization) การประเมินความเสียหายและการบำรุงรักษารถ(Breakdown and Maintenance Management )ฯลฯ 

เบื้องต้นที่เริ่มมีการนำมาใช้เช่น การตรวจจับความเร็วในการขับขี่ การขับเร่งกระชากการเบรกกะทันหันประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งสามารถใช้เก็บข้อมูลจากระบบประมวลผลภายในรถยนต์ เช่น ความเร็วรอบเครื่องยนต์ความเร็วไมล์รถ ระดับน้ำมัน แรงดันยางรถ ผนวกกับข้อมูลจำพวกประวัติการบำรุงรักษาและซ่อมแซม เพื่อวิเคราะห์วางแผนบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้อย่างถูกต้อง

เสริมปลอดภัย เพิ่มมูลค่าธุรกิจ

เธอกล่าวว่า หากระดับประเทศมีการแชร์ข้อมูลต่างๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน จะสามารถนำเทเลเมติกส์เข้ามาใช้สำหรับวางแผนเส้นทางการจัดส่งสินค้าและการเดินรถ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าจำพวกตำแหน่งของรถยนต์ ความเร็วที่ใช้ในการขับขี่ ข้อมูลการขับรถ และข้อมูลอื่นๆ 

ตัวอย่างเช่น การจำกัดความเร็วรถจากป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร รายงานเหตุการณ์บนท้องถนนแบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร วางแผนเส้นทางการขนส่งที่ดีที่สุด สามารถจัดส่งสินค้าได้ตรงตามเวลา กำหนดเวลาล่วงหน้าได้ชัดเจน รวมถึงป้องกันการทุจริตของพนักงานในเรื่องของเวลาการทำงานและระยะทางที่เดินทางจริง ฯลฯ

ด้านการเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ บริษัทผลิตรถยนต์สามารถนำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์ไปเชื่อมต่อกับรถรุ่นใหม่เพื่อเสริมฟังก์ชั่นความปลอดภัยและการให้บริการ เช่น ค้นหาตำแหน่ง ตรวจสอบตำแหน่งกรณีถูกโจรกรรม แจ้งเตือนขณะจอดรถเมื่อเกิดความผิดปกติกับรถยนต์ การนัดหมายเพื่อนำรถเข้าบริการตามระยะ บริการความช่วยเหลือ ฯลฯ

นอกจากนี้ เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจด้วยการผลิตยานพาหนะที่ไร้คนขับ(Autonomous Vehicles) ในระดับโลกมีการคาดการณ์ว่า Connected Car จะเติบโตได้ถึง 100% ในปี 2569 แม้ขณะนี้ยังพบเป็นจำนวนน้อย ทว่าเทเลเมติกส์จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบข้อมูล และพัฒนาเทคโนโลยีของยานพาหนะไร้คนขับให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในอนาคต

ปัจจุบัน ธุรกิจยานยนต์และการขนส่งได้นำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์มาช่วยในกระบวนการทำงาน เก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของดิจิทัล และนำเสนอผลลัพธ์แบบเวอร์ชวลไลเซชั่นที่เข้าใจง่ายและชัดเจนผ่านการแสดงผลบนแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่มีการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ ด้วยรูปแบบของสถิติ คะแนน หรือเกรดจากการวิเคราะห์และประเมินผล

"การใช้บิ๊กดาต้าจากเทเลเมติกส์เป็นหัวใจสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งที่ประสบผลสำเร็จทั้งในด้านสินค้าและบริการ ต่อทั้งผู้ประกอบการ ลูกค้า และคนขับรถ รวมทั้งสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และใช้งานแล้วในปัจจุบันไปพัฒนาให้เกิดข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ สำหรับการบริหารและจัดการในกลุ่มรถ ระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงการต่อยอดในภาคธุรกิจอื่นๆ"