17 คนดัง-นักวิชาการ-อดีต ป.ป.ช.ร่วมลงเลือก ก.ต.ศาล

17 คนดัง-นักวิชาการ-อดีต ป.ป.ช.ร่วมลงเลือก ก.ต.ศาล

"เลขาฯศาลยุติธรรม" ระบุ สมัครวันสุดท้ายมี 17 รายชื่อ รอตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนเสนอผู้พิพากษาทั่วประเทศลงคะแนนเลือก 27 ก.พ.นี้ลุ้นนับคะแนน เอาแค่ 2 คน

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.62 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เปิดเผยถึงการดำเนินการเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนของบุคคลภายนอก ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543

มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (3) ที่แก้ไขใหม่ จำนวน 2 คนซึ่งเดิมให้วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือกว่า หลังจากเริ่มเปิดรับสมัคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.61 - วันที่ 2 ม.ค.62 นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายการเปิดรับสมัครนั้น จนถึงเวลา 16.30 น.วันนี้ พบว่ามีผู้ยื่นใบสมัครเพิ่มอีก 9 ราย จากเดิมที่ยื่นไว้แล้ว 8 ราย รวมจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 17 ราย

17 คนดัง-นักวิชาการ-อดีต ป.ป.ช.ร่วมลงเลือก ก.ต.ศาล

โดยผู้สมัครทั้ง 17 รายนั้นมีรายชื่อดังนี้
1.นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อายุ 69 ปี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) และสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)
2.นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช อายุ 74 ปี อดีต ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เลือกจาก ส.ว.ปี 2555-57
3.นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ อายุ 62 ปี นักวิชาการอิสระ สาขารัฐศาสตร์
4.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อายุ 65 ปี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย
5.นายเผด็จ วงษ์เวียงจันทร์ (อายุ 41 ปี) เจ้าของกิจการ บจก. พี ดี อินเวนชั่น ออกแบบและสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรม
6.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อายุ 74 ปี ปัจจุบันเป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกมาจาก สนช. (ตั้งแต่ปี 2559) และอดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
7.นายสุรพงศ์ นิ่มกุลรัตน์ อายุ 68 ปี กรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
8.นายดนัย ธีวันดา อายุ 56 ปี รองอธิบดีกรมอนามัย
9.นายกฤษณ์ เพ็ชรศิริ อายุ 42 ปี วิศวกรอิสระ
10.นายเมธี ครองแก้ว อายุ 76 ปี อดีต ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกจาก สนช. และอดีต ป.ป.ช. /อดีตคณบดีเศษรฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
11.นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ อายุ 44 ปี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจก.สยามพาร์ค บางกอก
12.นางทรงพร โกมลสุรเดช อายุ 61 ปี อดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
13.นายธนาชัย สุขวณิช อายุ 58 ปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
14.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อายุ 53 ปี กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ทรงคุณวุฒิการบริหารงานบุคคล และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15.นายลิขิต ลีแสวงสุข อายุ 63 ปี กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
16.นางสุวรรณี สิชฌรังษี อายุ 61 ปี ข้าราชการบำนาญครู
17.นายสวัสดิ์ ใจเย็น อายุ 65 ปี อดีตพนักงาน บมจ ทรู คอร์ปอเรชั่น

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ขั้นตอนจากนี้ต่อไป จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 17 ราย โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมหมายเลขผู้มีสิทธิรับเลือก ในวันที่ 28 ม.ค.62 โดยการเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคคลภายนอกนี้ จะห้ามหาเสียงเช่นเดียวกับการเลือก ก.ต. ในทุกชั้นศาลด้วย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะเผยแพร่ประวัติและวิสัยทัศน์ของผู้สมัครให้ผู้มีสิทธิเลือกได้รับทราบทางเว็บไซต์ศาลยุติธรรมต่อไป

จากนั้นสำนักงานศาลยุติธรรม จะส่งบัตรเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก ให้ผู้ที่มีสิทธิเลือก ได้แก่ ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสทั่วประเทศ จำนวน 4,633 คน ในวันที่ 8 ก.พ.นี้

โดยกำหนดให้ ผู้พิพากษาที่มีสิทธิเลือก ต้องส่งบัตรเลือก มาถึงสำนักงานศาลยุติธรรม ภายในวันที่ 26 ก.พ.62 แล้วคณะกรรมการดำเนินการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จะนับคะแนนในวันที่ 27 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ดี การเลือก ก.ต.บุคคลภายนอกครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาทั่วประเทศมีสิทธิเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอกด้วยตนเองหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายจากเดิมที่สัดส่วนนี้จะถูกเลือกมาจาก ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร คือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด , มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ขณะที่ลักษณะต้องห้าม คือ ไม่เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ,ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ,ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ,ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตาม พ.ร.บ.นี้หรือตามกฎหมายอื่น , ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ , ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจาคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ,ไม่เป็น ส.ส.-ส.ว.-ข้าราชการการเมือง-สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ,ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง , ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-ตุลาการศาลปกครอง-กกต.-กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน-ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา-ป.ป.ช.-กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)-หรือกรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองหรือศาลอื่น , ไม่เป็นทนายความ ข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการอัยการ, ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ,ไม่เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งใดในรัฐวิสาหกิจ ,ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ สำหรับ "ก.ต." นั้น เป็นองค์กรทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการ มีมีหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา และให้คุณให้โทษผู้พิพากษาที่กระทำความผิดวินัย รวมถึงคุ้มครองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยองค์ประกอบ ก.ต. มีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่ง , ก.ต.ชั้นศาลฎีกา 6 คน , ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน , ศาลชั้นต้น 2 คน , ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอกอีก 2 คน ซึ่ง ก.ต.มีวาระ 2 ปี โดยสามารถรับเลือกเป็น ก.ต.ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ