'เอไอ-ไอโอที' ขึ้นหิ้งเทคโนโลยีมาแรงปี 62

'เอไอ-ไอโอที' ขึ้นหิ้งเทคโนโลยีมาแรงปี 62

จากยุคโมบายเฟิร์สต์จะเป็นเอไอเฟิร์สต์

ไทยเกาะติดเมกะเทรนด์ไอทีโลก คาดปี 2562 เอไอ ไอโอที โรโบติกส์ กระแสยังแรง ทุกสรรพสิ่งจะมีเอไอเข้าไปเกี่ยวข้อง กลายเป็นเอไอเฟิร์สต์แทนที่โมบายเฟิร์สต์ จุดจบของดาต้าเซ็นเตอร์กำลังคืบคลาน นักวิเคราะห์ข้อมูลจะมีมากขึ้นรับกระแสการหยิบข้อมูลผ่านการวิเคราะห์อัตโนมัติมาใช้งาน สำคัญต้องระมัดระวังความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล

ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า เทรนด์เทคโนโลยีโลกปี 2562 จะไม่เปลี่ยนจากเดิมมากนัก การ์ทเนอร์จัดเทรนด์เทคโนโลยีโดยแบ่ง 3 ส่วนคือ 1. อินเทลลิเจนท์ ที่การพัฒนาอะไรก็ตามต้องมีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ฝังอยู่ในนั้น เป็นอินเทลลิเจนท์ แอพ แอนด์ อนาไลติกส์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ 2. ดิจิทัล เป็นยุคของคลาวด์ การนำดาต้าขึ้นคลาวด์คอมพิวติ้ง คนจะมีประสบการณ์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เกิดการตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวและจริยธรรม ทั้งจะได้เห็นการเพิ่มบทบาทของควอนตัม คอมพิวติ้ง และ 3.เมช(Mesh) เครือข่ายดิจิทัล บล็อกเชน สมาร์ท สเปซ เป็นสิ่งต้องมา การเชื่อมโยงระหว่างคน ธุรกิจ สิ่งของ คอนเทนต์ และบริการจะส่งผ่านดิจิทัล

ขณะที่เทรนด์โลกระบุไว้ว่า จากปี 2563- 2568 เทคโนโลยีสำคัญๆ ที่จะมีบทบาทคือ เอไอ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) โรโบติกส์ บล็อกเชน และควอนตัม คอมพิวติ้ง

เกาะติดเทรนด์ไอทีไทย

ส่วนเทรนด์ที่สำคัญของประเทศไทย 6 อย่าง ประกอบด้วย 1.เอไอในทุกสิ่ง (Everything AI) จากยุคโมบาย เฟิร์สต์ จะกลายเป็นเอไอ เฟิร์สต์ โดยเอไอจะช่วยให้แข่งขันได้ ดาต้าเซ็นเตอร์จะถึงจุดจบ หรือเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง โลกกำลังจะเปลี่ยนไปอีกมาก เอไอจะถูกพัฒนาบนคลาวด์ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีต่างมีแพลตฟอร์มให้บริการ เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์ อเมซอน อาลีบาบา

ขณะที่หัวใจสำคัญที่จะมาถึงคือ ดีพ เลิร์นนิง ที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะขึ้น ทำให้เอไอเรียนรู้เองได้ แยกได้ว่าสิ่งไหนคืออะไร 80% ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะใช้ดีพเลิร์นนิ่งในการทำงาน การใช้เอ็นแอลพี (Natural language processing) บนแพลตฟอร์มบีไอและอนาไลติกส์จะกลายเป็นมาตรฐาน

โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของการสืบค้นข้อมูลจะทำโดยเอ็นแอลพี หรือเสียง หรือเครื่องมืออัตโนมัติ ซึ่งการสั่งงานด้วยเสียงเป็นยุคที่ 4 ของเอไอ และเด็กรุ่นใหม่จะสั่งงานด้วยเสียงเป็นหลัก

นอกจากนี้  ด้วยภายในปี 2563 มากกว่าหนึ่งในสามของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดการยอมรับและสร้างประสิทธิภาพในธุรกิจ ดังนั้นคนไอทีจะต้องศึกษาเรื่องเอไอ และดีพ เลิร์นนิ่งที่วิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้ ในอนาคตวิทยาศาสตร์ข้อมูล(data science) จะฉลาดขึ้นมาก ดังนั้นไม่ต้องใช้คนดูแลที่ฉลาดมากก็ได้ การที่เอไอจะทำงานได้ต้องมีดาต้ามากๆ ซึ่งจีนได้เปรียบเรื่องนี้เพราะมีข้อมูลจำนวนมหาศาล

2. การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ (Augmented Analytics) โดยบีไอและแมชีน เลิร์นนิ่ง จะมีบทบาทด้วยกัน จะเกิดนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลพลเมือง(Citizen Data Scientists) โดยปี 2563 ใครๆ ก็ให้บริการข้อมูลได้ มากกว่า 40% ของวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเป็นแบบอัตโนมัติ มีการนำผลผลิตที่ได้ไปใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง 3.สมาร์ท สเปซ สามารถทำงานที่ไหนก็ได้

4. ไฮบริด คลาวด์ โดยเกิดการผสมผสานระหว่างพับลิกคลาวด์ กับไพรเวท คลาวด์ ถึง 71% 5. ข้อมูลส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Privacy) เป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ ซึ่งระดับโลกมีจีดีพีอาร์ ส่วนไทยต้องคำนึงถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 6.ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น(Digital Transformation) ทั้งด้านประสบการณ์ลูกค้า โมเดลธุรกิจ และการทำงานที่เป็นเลิศ

ลงทุนใหม่ ทำ5จีง่ายกว่า

กำพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า 5จีเป็นปัจจัยสำคัญของไอโอที แต่ 5จีในไทยจะไม่มาเร็วเช่นที่คาด เพราะการประมูลยังไม่เกิด และผู้จะเข้าร่วมประมูลได้ใช้เงินไปกับการประมูล 4จีกันมากแล้ว

ส่วนตลาดไอโอที ที่แบ่งเป็น 3 ด้านคือ คอนซูเมอร์ ไอโอที, คอมเมอร์เชียล ไอโอที, และอินดัสเตรียล ไอโอที (ไอไอโอที) นั้น เดิมจะเห็นการใช้งานฝั่งคอนซูเมอร์ ที่ผู้ใช้ไม่สนใจว่าจะเก็บข้อมูลบนคลาวด์อะไร ที่ไหน เพียงสนองโจทย์ความต้องการใช้งานก็เพียงพอ ต่างจากไอไอโอที ที่ต้องรู้ว่าจะเก็บข้อมูลที่ไหน อย่างไร ขณะที่คอมเมอร์เชียล ไอโอที มีบางอย่างเก็บ บางอย่างแชร์ได้

“การทำไอไอโอที ถ้าเป็นการลงทุนใหม่ หรือสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาจะทำได้ง่าย บริหารจัดการง่าย และใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการนำระบบเก่าทั้งหมดย้ายมาเป็นไอไอโอที ยกเว้นมีเงินลงทุนมากจริงๆ ซึ่งไอไอโอทีทำเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพงาน”

นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นในปี 2562 คือ การเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์บางอย่างมาทำไอไอโอทีโดยเฉพาะ เป็นการมุ่งผลิตจำนวนน้อยๆ ที่ต้องการส่งมอบเร็ว จากปี 2561 ซึ่งยังไม่เห็นผู้ที่ทำไอไอโอทีอย่างจริงจังชัดเจน ส่วนมากเป็นแค่การทดลอง

แนวโน้มไอโอที ที่จะเกิดปี 2562 คือ อาคารอัจฉริยะ(Smart Building) บำรุงรักษาอาคาร, IoT Predictive Maintenance เน้นบำรุงรักษาในสายการผลิตเป็นหลัก และ ไอโอที ซิเคียวริตี้(IoT Security) จะมีสูงมาก เพราะเมื่อใช้ดาต้ามา ระบบความปลอดภัยเป็นฐานสำคัญต้องระวัง

ส่องแปลงทดลองไอโอที

กาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ เล่าว่า บริษัทเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีไอโอทีเซ็นเซอร์ ติดตั้งบนแปลงทดลองปลูกข้าวโพดหวานของซันสวีท พื้นที่ 25 ไร่ เป็นโครงการแรกที่ทำอย่างเป็นรูปธรรมอย่างครบวงจรในเชิงพาณิชย์ไปเมื่อกลางปี 2561

ส่วนปี 2562 นี้มีแผนพัฒนาโครงการระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป พร้อมกับหาช่องทางพัฒนาโครงการสมาร์ทฟาร์มกับพืชชนิดอื่นๆ รวมถึงฟาร์มสัตว์ต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้สามารถปรับใช้ได้กับการทำการเกษตรของพืชต่างๆ ได้ รวมถึงการทำฟาร์มสัตว์ต่างๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและเป้าหมายของแต่ละอุตสาหกรรม

“อุปกรณ์ไอโอทียุคปัจจุบัน ต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์ จึงจำเป็นต้องใช้ซิมเป็นช่องทางการเชื่อมต่อ แต่หากประเทศไทย นำลอรา เน็ตเวิร์คมาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว จะใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้ซิมมือถือได้”