อินโดนีเซียเผชิญภัยพิบัติหนักสุดปี2561

อินโดนีเซียเผชิญภัยพิบัติหนักสุดปี2561

ปี 2561 ถือเป็นปีวิปโยคสำหรับอินโดนีเซีย เนื่องจากเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงกว่า 2,400 ครั้ง และคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 4,200 คน ถือเป็นความสูญเสียมากที่สุดในรอบ 11 ปี

สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย(บีเอ็นพีบี)รายงานสรุปเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติว่า อินโดนีเซีย เผชิญภัยธรรมชาติถึง 2,426 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค.-กลางเดือน ธ.ค. ไม่รวมสึนามิในช่องแคบซุนดา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. แม้จำนวนภัยพิบัติในปีนี้ ลดลงจาก 2,862 ครั้งในปี 2560 แต่ยอดผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยธรรมชาติในปีนี้ สร้างสถิติสูงถึง 4,321 คน  ถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 

ทั้งนี้ ภัยพิบัติเกือบ 97% เป็นภัยจากบรรยากาศ น้ำ และมหาสมุทร เช่น พายุ น้ำท่วมภัยแล้งหรือคลื่นร้อน แต่ภัยพิบัติทางธรณีวิทยา อย่างเช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และปรากฏการณ์ดินเหลว ที่มีสัดส่วนเพียง 3% ของจำนวนภัยธรรมชาติทั้งหมดในปีนี้ กลับคร่าชีวิตมากที่สุดรวม 3,969 คน ไม่รวมสึนามิในช่องแคบซุนดา เมื่อเกือบหนึ่งสัปดาห์ก่อน  ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 430 คนและยังมีผู้สูญหาย 159 คน

ขณะที่เฉพาะแผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูดตามด้วยปรากฏการณ์ดินเหลวและสึนามิในจังหวัดสุลาเวสีกลางเมื่อเดือนก.ย. คร่าชีวิตมากที่สุดถึง 3,397 คน และมีผู้บาดเจ็บ 4,426 คน บ้านเรือน 66,139 หลังได้รับความเสียหาย 

นอกจากนี้ เกาะลอมบอก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประสบแผ่นดินไหวรุนแรงอย่างน้อย 5 ครั้งในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 555 คน

ภัยพิบัติตลอดปีนี้ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยศูนย์บรรเทาภัยพิบัติทางภูเขาไฟวิทยาและธรณีวิทยา แจ้งเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า ภูเขาไฟ 20 ลูกทั่วประเทศมีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การปะทุของภูเขาไฟอะนัก กรากะตัว ที่ทำให้เกิดดินถล่มและสึนามิซัดชายฝั่งช่องแคบซุนดา โดยไม่สามารถเตือนภัยได้ กระตุ้นให้รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิจากการปะทุของภูเขาไฟ และซ่อมแซมทุ่นเตือนภัยสึนามิจากแผ่นดินไหวที่ใช้งานไม่ได้