เปิดศึกนโยบาย "สมรภูมิ กทม."

เปิดศึกนโยบาย "สมรภูมิ กทม."

สนามเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร(กทม.) ในปีหน้า 2562 ถึงแม้เก้าอี้ ส.ส.จะถูกลดลง เหลือ 30 ที่นั่งจากเดิม 33 แต่สนามเมืองหลวง กลับมีจำนวนพรรคการเมือง เปิดตัวเข้ามาชิงส่วนแบ่งคึกคักกว่าครั้งไหนๆ

หากย้อนกลับไปดูผลเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครั้งหลังสุด เมื่อปี 2554 มีเพียง 2 พรรคที่ยึดครอง ประชาธิปัตย์ ได้ 23 ที่นั่ง คะแนนรวม 1,356,673 ขณะที่เพื่อไทย ได้ 10 ที่นั่ง คะแนนรวม 1,246,057  แต่ปีหน้านี้ หลายพรรคมั่นใจว่าจะเบียดพรรคใหญ่เข้าไปได้

หลายพรรคประเมินทิศทางการเมือง และกระแสคนกรุงว่า ปัญหาความขัดแย้งสร้างความเบื่อหน่ายในวังวนการเมืองที่ผูกขาดนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ จึงหันมานำเสนอ “คนรุ่นใหม่” เป็นจุดขาย พร้อมๆ กับนโยบายแห่งยุคดิจิทัล 

เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหว พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 พรรค อาทิ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ พลังธรรมใหม่ เสรีรวมไทย ภราดรภาพ ฯ โดยหลายพรรคทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครในแต่ละเขต เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวผู้สมัครและกระแสพรรค คือ “นโยบาย” ในการแก้ปัญหาคนเมือง 

กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมแนวนโยบายและแนวคิดของพรรคการเมืองบางส่วน ที่เตรียมนำเสนอต่อคนกรุงเทพฯ ในสนามเลือกตั้ง ต้นปี 2562 นี้   

+เพื่อไทยปรับยุทธศาสตร์ทันเทคโนโลยี

พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นทั้งประธานยุทธศาสตร์พรรคและเคยเป็นประธาน กทม.ได้มอบหมายให้ มือขวา อย่าง อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที ดูแลพื้นที่ กทม.ซึ่งเพื่อไทยได้ปรับยุทธศาสตร์ กทม.ใหม่ ทั้งนโยบายและตัวบุคคล ที่เน้น"หน้าใหม่" ที่จะเก็บไว้เปิดตัวช่วงใกล้ลงสนาม

ทีม กทม.ของเพื่อไทย ประเมินว่า พื้นที่ของคนเมือง ที่มีฐานความรู้ ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ดังนั้น นโยบายเพื่อไทยใน กทม.รอบนี้ จึงเน้นไปที่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในการแปลงไปสู่นโยบาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน  

     “อนุดิษฐ์" ระบุว่า เพื่อไทยได้ปรับยุทธศาสตร์ไม่น้อย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เนื่องจากสังคมเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีในรูปแบบโซเชียลมีเดียเข้ามาทำนโยบาย และดึงประชาชนให้มีส่วนร่วมได้มากขึ้น ซึ่งเพื่อไทยยังเน้นความสำคัญกับปัญหาสังคมและสภาพเศรษฐกิจในกทม.มาก" 

+ ภท. ชู 5G -สร้างแพลตฟอร์มสู่สมาร์ทซิตี้ +(เต็มแล้ว)

กรุงเทพ สะดวก สบาย สโลแกน ที่พรรคภูมิใจไทย ชิงเปิดตัวในสนามเลือกตั้ง กทม. โดย พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ทีมยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย อธิบายถึงแนวคิดและทิศทางนโยบาย กทม.ว่า “กรุงเทพ สะดวก สบาย” จะทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับ "Co Working space” และการเรียนผ่านออนไลน์ ในหลักสูตรที่ทันสมัย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงรถสาธารณะด้วยแอพพลิเคชั่นเดียว เราเรียกว่า “One Bangkok One Application” รวมไปถึงการผลักดันให้กรุงเทพฯ และสำนักเขต สามารถให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องเดินทางมา โดยใช้เพียงแอพพลิเคชั่นเดียว

“หากประเทศต้องการเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ นั่นหมายความว่า เรากำลังเข้าสู่รูปแบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาประเทศให้สู่ระบบเทคโนโลยี 5G ได้ซึ่งทีมยุทธศาสตร์ดิจิทัลได้ชูธีม “5G Economy” หรือ เศรษฐกิจ 5G” ซึ่งเป็นธีมหลัก ของแนวคิดด้านดิจิทัล ของพรรคภูมิใจไทย มั่นใจว่าแนวคิดดังกล่าว มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว

พ.อ.เศรษฐพงศ์ มองว่า การบริหารจัดการที่ดี สามารถแก้ปัญหาหลายส่วนของกรุงเทพฯ ได้ "การใช้ระบบที่ทำให้กรุงเทพฯ มีวิธีการบริหารจัดการ โดยการทำให้การเคลื่อนย้ายของผู้คนลดลง แต่ทำงานได้มากขึ้น ผ่านระบบไฮสปีดอินเทอร์เน็ต “วันนี้มีนักเรียนที่ต้องเคลื่อนที่มากกว่า 7 ล้านคน ถ้าเราลดปริมาณตรงนี้ได้ประมาณ 25% ก็สามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้” 

เพราะกรุงเทพฯน่าจะเป็นเมืองแรกที่ใช้ระบบ 5G พรรคภูมิใจไทยจึงได้ประกาศนโยบาย 5G เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็น Smart Bangkok ซึ่งผมได้รับมอบหมายจากพรรคในเรื่องนี้ หากเรามีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ ก็จะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด"

ผังเมือง เป็นอีกเรื่องใหญ่ของกทม. ที่ภูมิไทย มองว่า ต้องเป็นการแก้ในระยะยาว แต่สิ่งที่ควรแก้เร่งด่วนคือ ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ และสุขภาพของประชาชน ที่จะต้องมีการควบคุมรถยนต์ และการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดมลพิษ

เช่นเดียวกับปัญหาขยะ ที่กรุงเทพฯ ต้องมีแพลตฟอร์ม ที่ให้ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูล รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ถ้ากรุงเทพมีแพลตฟอร์ม แล้วทำให้คนเข้าถึงระบบต่างๆ เหล่านี้ได้ โดยใช้แพลตฟอร์มเดียว เราจึงต้องการเสนอให้มีแพลตฟอร์มของกรุงเทพอย่างแท้จริง

+ชทพ. : กทม. 4.0 คนกรุงต้องเท่าเทียม+

วราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทุกเรื่องของการพัฒนาจะมีเหรียญ 2 ด้านเสมอ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้เช่นกัน ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาได้อย่างทัดเทียมประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง ระบบ 5G ที่กำลังเกิดขึ้น การก้าวเดินไปสู่สังคมไร้เงินสด Cryptocurrency หรือการมี Smart Traffic ที่คอยมอนิเตอร์สภาพการจราจร 

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเพียบพร้อม แต่สิ่งที่เราขาดคือ เมื่อประเทศก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 หรือการทำให้กรุงเทพฯ เป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว 1.เราจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในเมือง ที่มีประชากรกรุงเทพฯ ทั้ง 14 ล้านคน มีความเป็น 4.0 เท่าเทียมกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักมองกรุงเทพฯ เพียงแค่บางเขตที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่น สาทร สุขุมวิท สีลม ปทุมวัน แต่ยังมีอีกหลายเขต เช่น หนองจอก ลำผักชี ในบางเรื่องกรุงเทพฯ ยังมีอาณาเขต ขนาดทะลุไปถึงแบริ่ง

ถ้านับจากความเป็นสมาร์ทซิตี้ พบว่ามีประชากรกลุ่มใหญ่อาจเข้าถึง แต่กลับไม่มีความเข้าใจ ฉะนั้นการที่บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยนำเข้ามาร่วมแล้ว ทำให้มีสิ่งที่ต้องเตรียมรองรับให้กับกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต หรือร่วมทำงาน เช่น ธนาคารหลายรายที่พัฒนาระบบออโตเมชั่นมาให้บริการลูกค้า จนสามารถลดจำนวนพนักงาน ยุบสาขาได้มาก เกิดเป็นผลกระทบกับคนกลุ่มหนึ่งจากการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า

วราวุธ ระบุ การพัฒนาไม่ใช่เรื่องยาก เพียงขอให้มีนโยบายที่สวยหรู พร้อมงบฯ ที่เพียงพอ เชื่อว่าทุกพรรคทำได้เหมือนกันหมด เช่น การจะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การนำรถที่มีระบบออโตเมติกเต็มรูปแบบมาให้บริการผ่านแอพลิเคชัน มีเซ็นเชอร์นำทาง ที่สามารถระบุพิกัดตำแหน่งปัจจุบันลูกค้า เพื่อไปรับ-ส่งลูกค้า และไปส่งยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย พร้อมรับจ่ายค่าบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ประเทศไทยก็สามารถทำได้ แต่ผลกระทบที่ตามคือคนขับแท็กซี่จำนวนไม่น้อย ซึ่งจะทำอย่างไรก็คนกลุ่มนี้

แน่นอนว่า ชีวิตคนกรุงเทพฯ จะได้รับความสะดวกสบายจากการเป็นสมาร์ทซิตี้ สำหรับคนที่มีอันจะกิน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ แต่ที่แน่นอนเช่นกันคือ ผลกระทบจะเกิดกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง และเราต้องเตรียมให้พวกเขาพร้อมรับมือ ด้วยการฝึกอาชีพใหม่ๆ ให้พวกเขาอย่างไร หรือจะแก้ที่ระบบการศึกษา ด้วยการเพิ่มความมุ่งมั่นให้ระบบการศึกษา สามารถทำให้คนเพิ่มช่องทางทำกิน หรือเพิ่มอาชีพใหม่ๆ เช่น โปรแกรมเมอร์

+ พปชร. : ดันดิจิทัลเชื่่อมคน-พัฒนาเมือง +

ณริช ผลานุรักษา นักการเมืองใหม่ ของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ที่เตรียมลงสมัคร ส.ส.กทม. ฉายภาพแนวคิดและนโยบาย กทม.ดังนี้

"เรื่องโครงสร้างเมือง ควรที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ประสบมากที่สุดคือ เรื่อง 1.การจราจร 2. ค่าครองชีพ 3. ความปลอดภัย โดยในเรื่องการคมนาคม เห็นว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีควรที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาการจราจร 

เราจึงคิดว่าจะทำแอปพลิเคชั่น “Smart Transfer Station” ที่เชื่อมโยงทุกการเดินทางในกรุงเทพฯ โดยจะนำข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากจีพีเอสของรถเมล์ รถทัวร์ หรือเรือ เชื่อมเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องการเดินทาง รวมถึงรู้เวลาของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องการ เมื่อมีข้อมูลก็จะทำให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้ดีมาก ก็จะทำให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างมาก

อีกเรื่อง ที่เราเห็นว่าควรทำคือ “Smart Traffic” โดยนำ “Big Data” มาใช้ ซึ่งเราจะมีกล้องที่จับข้อมูลเพื่อบอกสภาพการจราจรในแต่ละพื้นที่ และต้องเชื่อมเข้ากับระบบของตำรวจจราจร โดยเชื่อมต่อกันทั้งกรุงเทพฯ เช่นพื้นที่ที่เป็นสีแดง ระบบจะบอกเราว่า ควรปล่อยรถยนต์ตรงไหน ให้สีแดงกลายเป็นสีเขียว

นอกจากนี้ จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการคำนวณ ซึ่งจะเป็นการลดภาระตำรวจจราจรอีกด้วย ขณะนี้้มีหน่วยงาน อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้คิดค้นในเรื่องนี้ เราอาจจะประสานขอ บุคคลที่มีความสามารถมาช่วยวางแผนในเรื่องนี้

อีกเรื่องที่อยากทำ คือ รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีข้อดี คือประหยัดพลังงาน โดยเริ่มจากรถเมล์พลังงานไฟฟ้ารวมทั้งมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเช่นในต่างประเทศ และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการมีอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าได้อีกด้วย เพราะในอนาคต อุตสาหกรรมเหล่านี้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างแน่นอน

ขณะที่เรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะผู้หญิง เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่มาก พรรคจึงมีแนวคิดในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Bangkok SOS” เพื่อสามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือได้จากโทรศัพท์มือถือ โดยจะเชื่อมต่อไปยังสถานีตำรวจเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย รวมถึงในอนาคตอาจจะเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลได้อีกด้วย โดยแอพพลิเคชั่นนี้ จะมีข้อมูลส่วนตัวในการยืนยันตัวบุคคล และจะเป็นการลดภาระให้กับตำรวจ 191 ได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่เรื่องของปากท้องค่าครองชีพ เป็นสิ่งที่เลขาธิการพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้ความสำคัญมาก ซึ่งเรามีแนวคิดที่จะทำให้ร้านโชว์ห่วยทันต่อเทคโนโลยี โดยอาจจะมีร้านค้าโชว์ห่วยออนไลน์ ซึ่งอาจเริ่มแค่ภายในชุมชนก่อน เพื่อเป็นหน่วยของชุมชนหรือขายสินค้าที่ชุมชนผลิตเอง สร้างจุดขายให้แต่ละชุมชน นอกจากนี้จะมีในเรื่องของสังคมไร้เงินสด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวของประชาชนในการ จับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่เรื่องผังเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่า ผังเมืองที่ดีที่สุดในโลก ก็ย่อมมีปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเราจะได้เห็นโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เช่นโครงการรถไฟฟ้าที่จะเชื่อมต่อ คมนาคมทุกสายเข้าด้วยกัน

เช่นเดียวกับสนามบิน ที่จะต้องมีการเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิและในอนาคต คือสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นรถไฟสายด่วน เพื่อเชื่อม 3 สนามบินให้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่จับต้องได้นั่นคือ การใช้พื้นที่ อาทิ ทางเดินเท้า หรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะต้องทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ๆ กับสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่านี้ เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เช่น บริเวณใต้ทางด่วน ที่อาจจะปรับปรุงเป็นสนามกีฬาของชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาอาชญากรรมได้อีกด้วย โดยสนามเหล่านี้จะสามารถเปิดจองได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ของกทม. ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมให้ชุมชนเข้าหากันได้อีกด้วย

+อนาคตใหม่: ชู การมีส่วนร่วมที่มุ่งมั่น +

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ หนึ่งในคณะทำงานพรรคอนาคตใหม่ ระบุการพัฒนาเมืองให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ จะประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการเท่านั้น ประกอบด้วย1.การรวมข้อมูลที่มีอยู่แล้วตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัล หรือข้อมูลที่อยู่กับหน่วยงานบางกระทรวงกลับไม่มีการอัพเดท ทำให้การขอข้อมูลข้ามกระทรวงจึงต้องใช้เวลา เช่น ข้อมูลทะเบียน ที่เก็บไว้โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้รับการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย แต่กลับบางกระทรวง อย่างกรมที่ดิน ทำให้เมื่อเราต้องติดต่องานราชการในบางครั้ง จึงต้องเตรียมเอกสารมากมาย ฉะนั้น ประการแรกที่ต้องทำคือการนำข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน

2.การเปิดเผยข้อมูลซึ่งในพรรคอนาคตใหม่จะกล่าวถึงข้อมูลเพื่อการป้องกันการคอร์รัปชันด้วย แต่สำหรับประเด็นสมาร์ทซิตี้ เราต้องหันมามองที่ข้อมูลว่า จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่รวบรวมไว้ได้นี้เป็น Open Data เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแอพลิเคชั่นที่สามารถนำมาร่วมพัฒนาการให้บริการภาครัฐ

และหลักสำคัญเรื่องสุดท้าย คือ การนำข้อมูลมาใช้ในการระบุยืนยันตัวบุคคล(Authentication) ได้แบบออนไลน์ ซึ่งในหลายประเทศสามารถดำเนินการได้แล้วผ่าน Smart Device จากการสแกนลายนิ้วมือ สแกนใบหน้า ซึ่งทำให้มีการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

หลัก 3 ข้อนี้ คือ แกนหลัก (Core) ที่จำเป็นและจะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย มิเช่นนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงไปสู่สมาร์ทซิตี้ หรือการนำข้อมูลมาให้บริการแก่ประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ รวมถึง ความเป็น E-Government ด้วย

การพัฒนาในรูปแบบของเทคโนโลยี มีหลายประเทศ เช่นสิงคโปร์ก็มีแนวทางการพัฒนาที่คล้ายคลึงกันนี้ รวมถึงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่พยายามชูเป็นโยบายหลักในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปสู่ความเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยผลักดันการรวบรวม เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐมาเปิดเผยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ เพราะเรื่องของเทคโนโลยีจะไม่หนีกันไปเท่าไร

สิ่งที่แตกต่างคือ แนวทางของพรรคอนาคตใหม่ยึดที่ประชาชนเป็นหลัก เพราะทุกอย่างจะต้องมาจากประชาชน ขณะที่แกนหลักยุทธศาสตร์ชาติ ของคสช. ถูกควบคุมโดยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งมีเนื้อหาไม่ได้ถูกเขียนโดยประชาชน จึงขาดการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะแง่ทางเทคนิค วิชาการดิจิทัล จะพบว่าแต่ละประเทศมีรายละเอียดของพัฒนาความเป็นสมาร์ทซีตี้ที่ใกล้เคียงกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลนั้นจะมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนา รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้มากน้อยเพียงใด

ผมเชื่อว่า เรื่องนี้นโยบายของแต่ละพรรค จะค่อนข้างใกล้เคียงกัน อาจมีบางเรื่องที่แต่ละพรรคพูดไม่เหมือนกัน ฉะนั้น แรงผลักดันให้เกิดผลสำเร็จจากความตั้งใจของแต่ละพรรค

ทั้งนี้ในแง่การกระจายอำนาจด้วยเหตุที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีอำนาจไม่เพียงพอที่จะพัฒนาเมืองกรุงเทพฯให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะการขับเคลื่อนจำเป็นต้องการการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับรัฐบาล หรือการเป็น E-Goverment ซึ่งในนโยบายของพรรคมีส่วนหนึ่งในเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นคืนอำนาจสู่ประชาชนให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย