“เนเจอร์ฟู้ด” เลือดใหม่ลูกชาวนา กระดูกสันหลังทองคำ

“เนเจอร์ฟู้ด” เลือดใหม่ลูกชาวนา กระดูกสันหลังทองคำ

ลูกชาวนาเลือดใหม่ฝันเป็นเถ้าแก่ตอบแทนสังคม พลิกวิถีชีวิตชาวนา“กระดูกสันหลังของชาติ”หลุดวังวนความยากจน ระดมทุนรวบเครือข่ายชาวนาไทย ตั้งโรงสี แปรรูป หาตลาดขายผ่านแอพพลิเคชั่น จนกระทั่งบินกวาดออเดอร์ส่งออก ปฐมบทฝันสูงสุดสู่ “ผู้นำข้าวออแกนิค"

เป็นครอบครัวลูกชาวนา จนถึงวันที่ได้รับทุนการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย มานพ แก้วโกย” บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ยังคงฝังใจกับความอยุติธรรมของระบบค้าข้าว เฝ้าตั้งคำถาม ทำไม? วิถีชาวนาผู้เป็น“กระดูกสันหลังของชาติ”ต้องขายข้าวกำไรน้อยไปจนถึงขาดทุน

ระหว่างที่เรียน “มานพ” ซึ่งปัจจุบันนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง (CEO & Founder) บริษัทเนเจอร์ฟู้ด โปรดักส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าว่า ชอบเข้าห้องสมุดอ่านประวัตินักธุรกิจที่ก้าวเป็นมหาเศรษฐีพบว่าส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะยากจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชีวิตนักศึกษาทุนเช่นเขาทำสิ่งที่ตอบแทนทุน ตอบแทนสังคม

ดังนั้นหลังเป็นบัญฑิตเลือดใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย จึงเริ่มลุยธุรกิจในฝันในปี 2555 ด้วยเงินทุนเพียง 4,000 บาท ในวัน23 ปี ทั้งที่เงินไม่พร้อมแต่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ปลดล็อกความยากจนให้ชาวนา

“ต้องการให้ชาวนาและเครือข่ายเกษตรกรไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจน เพราะจำฝังใจตั้งแต่เด็กผลผลิตข้าวดีมากแต่ถึงเวลาขายให้พ่อค้าคนกลางกลับขายได้ราคาต่ำ จึงเกิดเป็นอุดมการณ์ไปพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับเกษตรกรในชุมชนเพื่อผลักดันรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้น” เขาเล่า

เริ่มจากการรวมตัวเพื่อสร้างเครือข่ายชาวนา เกษตรกร ที่เริ่มต้นจากจังหวัดบ้านเกิดของเขา คือจังหวัดสุรินทร์ ก่อนขยายมาเป็น 8 จังหวัด รวม 6,240 ครอบครัวในปัจจุบันที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย ตาก, ลำปาง, นครราชสีมา, นครสวรรค์, พิจิตร, เชียงราย โดยบริษัทจะเข้าไปส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์ (Organic) พร้อมกับช่วยทำตลาดขายผ่านสมาชิก ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยครอบครัวละ 57,032 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 160,000 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 280%

ขณะเดียวกันยังเข้าไปขยายผลิตภัณฑ์เพิ่มข้าวแปรรูป ได้มาจากงานวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัย ที่ค้นพบแอลคาร์เนทีน โปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในข้าว มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์ สุขภาพ และไม่อ้วน ภายใต้ชื่อ ข้าวหุ่นเพรียว

เพราะความที่ไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง ทุกปีที่มีการขยายกิจการจึงเป็นการบริหารงบจากกำไรที่ได้ พร้อมกันกับกู้เงินสนับสนุนจากธนาคารเพื่อขยายกิจการเพิ่มกำลังการผลิต เริ่มต้นจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เการเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อขยายโรงงานพัฒนาสินค้าแปรรูปในจ.สุรินทร์ ล่าสุดได้รับเงินกู้ จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 6 แสนบาทรวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปีที่แล้วให้กู้วงเงิน 1 ล้านบาท ปีนี้เพิ่มวงเงินเป็น 4 ล้านบาท หลังจากเห็นกำไรเติบโตทุกปี

“มีคนอยากร่วมสนับสนุนธุรกิจ หน่วยงาน และนักลงทุน ให้กู้และผู้ร่วมทุน (Angel Investor)โดยที่เราไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขยายโรงงาน เพราะต้องการสนับสนุนให้อาชีพชาวนาพ้นจากความยากจนเหมือนกัน” เขาเล่าถึงแรงหนุน

ธุรกิจเติบโตมาเป็นลำดับจนปัจจุบัน (ธันวาคม 2561) ปีนี้ดำเนินธุรกิจครบ 6 ปี  ผลิตสินค้าส่งออกไปแล้วใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, จีน และสหรัฐ ปีหน้ายังมีแผนจะเข้าไปเจาะทำตลาดเพิ่มในสหภาพยุโรป

“ทำตลาดส่งออกเมื่อ 2 ปีที่ผานมา กว่าจะส่งออกได้ ต้องติดต่อผ่านอีเมล์กับผู้ค้า จนมั่นใจว่าตัดสินใจซื้อแน่นอนจึงบินพบปะพูดคุย เหมือนคนจะแต่งงานกันก็ต้องเจอหน้ากัน” เขาเล่าวิธีทำการตลาดส่งออกหลังได้รับบทเรียนส่งข้าวล็อตแรกให้กับลูกค้าแอฟริกา ออเดอร์ 1.5 แสนบาท โดยการออกใบคำสั่งซื้อ(L/C)ปลอม ผลสุดท้ายเมื่อข้าวออกเรือไปส่งแล้วก็ตามเก็บเงินใครไม่ได้

เขาบอกด้วยว่า ปีหน้าถือเป็นปีทองอีกปีที่กำลังไต่ถึงจุดเปลี่ยนไปแตะที่ยอดขาย 100 ล้านบาท หลังจากเริ่มต้นส่งออกมีออเดอร์ 15 ล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มเป็น 25 ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งในปี 2562 มีออเดอร์ที่เจรจาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว 78 ล้านบาท ยังไม่นับรวมออเดอร์ด่วนจึงมีโอกาสลุ้นไปแตะที่ 100 ล้านบาท และคาดว่าขยายไปถึง 270 ล้านบาทในปี 2563 หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการขยายตัวไปแตะที่1,000 ล้านในปี 2568

“ธุรกิจขยายตัวถึง 500% ภายใน 6 ปี จากปี 2555 มีรายได้ 50,000 บาท ขึ้นเป็น 78 ล้านบาทในปี 2562”

ส่วนแผนการดำเนินงานปี 2562 ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิต 2,300 ตัน โดยกลุ่มลูกค้าธุรกิจ(B2B)รวมออเดอร์มูลค่า 78 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตข้าวในประเทศ ในประเทศ 70% ที่เหลือเป็นลูกค้าต่างประเทศ 

ส่วนลูกค้ารายย่อย (B2C) ขายผ่านเว็บไซต์ ที่เพิ่งเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “NatureFood Home Delivery” เมื่อพ.ย.2561ที่ผ่านมา ตั้งเป้าขยายฐานสมาชิกซื้อข้าวเพิ่ม จาก 200 ราย เป็น10,000รายในปี 2563 เพิ่มออเดอร์ให้ได้ 800ตันต่อปี และวางแผนขยายสมาชิก เพื่อผลักดันให้เกิดยอดขายปลีก 275 ล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มฐานสมาชิกเป็น 20,000 รายในปี 2565 เพื่อยอดขาย 500 ล้านบาท

“เป็นตัวเลขที่ดูจะเพ้อฝันแต่ด้วยแผนธุรกิจ พร้อมกับเปิดตัวแอพผมเชื่อว่ามีโอกาสสูง”

สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ที่เริ่มเปิดบริษัท เป้าหมายก้าวขึ้นเป็นเบอร์1 ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ออแกนิกเพื่อสุขภาพในปี 2565 คู่ขนานกับการยกระดับชีวิตเกษตรกรต่อสู้กับความยากจน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือปฏิวัติการเกษตรไทย

มานพ ยังเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่มีหลักการบริหารในสไตล์คนรุ่นใหม่ต้องว่องไวพร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปหุ่นเพรียว ที่คาดเป็นเรือธงสร้างแบรนด์ ต้องยอมพับไปก่อน เพราะเป็นสินค้าใหม่ที่ต้องใช้เวลาสื่อสารให้ความรู้คน จึงเลือกขายข้าวสี และข้าวออแกนิก ที่ขายได้เงินเร็วมาให้ชาวนาก่อน และตามมาด้วยสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ซับซ้อน ข้าวโพดต้ม ผักผลไม้แปรรูป โดยสินค้าแปรรูป และอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) คือแผนในระยะถัดไป

“หากสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องไม่ควรยึดถือ โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทุกวัน ธุรกิจก็ต้องพร้อมเปลี่ยน โดยยึดเป้าหมายชีวิตเกษตรกรเป็นที่ตั้ง แต่วิธีการยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา” เขาเล่าถึงหลักการบริหาร

ปัจจุบันธุรกิจมีกำไรติดต่อกันเป็นปีที่ 3 หากมีกำไรต่อเนื่องไปอีก 2 ปีก็พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่ขึ้นอยู่กับสถานะธุรกิจในวันข้างหน้ายังต้องการเงินทุนหรือไม่ หากไม่เดือดร้อนในการระดมทุนขยายธุรกิจก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อน

ความหวังสูงสุดไม่หยุดแค่ธุรกิจเติบโต แต่ธุรกิจจะบริหารในรูปวิสาหกิจชุมชนที่เครือข่ายชาวนาร่วมเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ จึงมีรูปแบบการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมจะมีอายุไปถึง100 ปี

----------------------

สูตรปั้นธุรกิจทุนน้อย

-โปร่งใสเพื่อระดมทุน

-ยึดวิสัยทัศน์ตัดสินใจ

-พร้อมปรับวิธีตามสภาวะ

-เทคโนโลยีเชื่อมบริหารห่วงโซ่