'ดีเอสไอ' ตั้งเป้าปี'62 กวาดล้างอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

'ดีเอสไอ' ตั้งเป้าปี'62 กวาดล้างอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

"ดีเอสไอ" แถลงผลงานรอบปี ฟุ้งเรียกเงินคืนรัฐได้ 52,000 ล้าน เหลือคดีค้าง 3 ปี แค่ 8 สำนวน เหตุต้องรอหลักฐานจากต่างประเทศ ตั้งเป้าปี 62 ลุยคดีบุกรุกที่ดิน-อาชญากรรมคอมพิวเตอร์

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลงานประจำปี 2561 ว่า ในรอบปี 2561 ดีเอสไอรับคดีพิเศษ 231 คดี มูลค่าความเสียหาย 52,000 ล้านบาท โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมเศรษฐกิจ หลบเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์ และฉ้อโกงภาษี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 43,000 ล้านบาท รวมถึงคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ระหว่างการขยายผลการจับกุมเว็บไซต์พนันออนไลน์ 400-500 เว็บไซต์ จะต้องถูกดำเนินคดีและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามกฎหมายฟอกเงินด้วย ทั้งนี้ ในปี 2562 ดีเอสไอตั้งเป้าตามยุทธศาสตร์รัฐบาล “มั่นคง มั่นคั่ง “ โดยจะเน้นไปที่คดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเสียหายรุนแรง แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มูลค่าความเสียหายสูง และจับกุมผู้ต้องหาได้ยาก รวมถึงคดีเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินสาธารณะ โดยจะเน้นเข้าไปในพื้นที่ที่ดีเอสไอยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการ

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอได้ปรับปรุงมาตรฐานการรับคดี ป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยในอดีตที่เคยใช้อำนาจอธิบดีดีเอสไอรับสอบสวนคดีที่ไม่ควรเป็นคดีพิเศษ โดยการรับคดีไว้สอบสวนจะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมพิจารณา และเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานในปี 2562 จะเปิดรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร นักบัญชี และเทคโนโลยี หรือโปรแกรมเมอร์เข้ามาติดตามแฮกเกอร์ จำนวน 40 อัตรา โดยการรับสมัครมีขั้นตอนการสอบตามระเบียบราชการ ประชาชนอย่างไรหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างว่าสามารถฝากงานเข้าดีเอสไอได้ ซึ่งล่าสุดกองปราบได้จับกุมมิจฉาชีพแอบอ้างฝากงานเข้าดีเอสไอได้แล้ว 1 ราย

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีค้างการสอบสวนเกิน 3 ปี จำนวน 8 ปี เป็นคดีความผิดระหว่างประเทศหรือคดีนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีความจำเป็นต้องรอหลักฐานจากต่างประเทศ แต่ดีเอสไอไม่ได้ยิ่งนอนใจเตรียมหารือกับอัยการสูงสุดว่ามีช่องทางใดสามารถเร่งรัดให้เร็วขึ้นได้บ้างหรือไม่ เช่น คดีบริษัทเอนเนอร์ยี่เอิร์ธ ที่แอบอ้างว่ามีสัญญาซื้อขายถ่านหินจากประเทศอินโดนีเชียและนำเอกสารดังกล่าวมายื่นกู้กับสถาบันการเงิน รวมถึงคดีค้ามนุษย์ของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของกิจการอาบอบนวดในเครือวิคตอเรียซีเรีย ที่หลบหนีไปต่างประเทศ โดยคดียังอยู่ในอายุความ 20 ปี เช่นเดียวกับการขยายผลสอบสวนคดีฟอกเงินกับเครือข่ายพระวัดพระธรรมกาย 30 รูป ซึ่งรับเงินที่ฉ้อโกงมาจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ล่าสุดดีเอสไอเสนอเรื่องถึงอัยการสูงสุดขอให้ยุบเลิกมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 131 เนื่องจากเป็นมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน

ด้านพ.ต.ท.มนตรี บุญยโยธิน ผอ.กองคดีสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการดำเนินการบุกรุกออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบ กรณีรังเย็นรีสอร์ท ตรวจสอบพบเข้าครอบครองที่ดิน 6,000 ไร่ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งสุดท้าย รังเย็นรีสอร์ทได้ปิดกิจการแล้ว แต่ยังมีคนเฝ้าดูพื้นที่อยู่ตรมแนวขอบที่ดิน ระหว่างนี้กำลังเร่งตรวจสอบเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง และสอบพยานไปแล้ว 70 ปาก แต่ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะสรุปสำนวนได้เมื่อไหร่ เพราะยังมีหลักฐานที่ต้องวิเคราะห์อีกจำนวนมาก สำหรับกรณีเกาะนาคาน้อย จ.ภูเก็ต ดีเอสไอ ได้ส่งหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ต่อสู้ในชั้นศาล ส่วนกรณีบ้านล้อมดาว จ.พังงา ของนายบุญชัย เบญจรงค์กุล ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นน่าเชื่อว่ามีบุคคลจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง บริเวณดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะบ้านล้อมดาว แต่น่าเชื่อว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ 2,000 ไร่ ล้อมภูเขาทั้งลูก ดีเอสไอจึงต้องดูภาพรวมทั้งหมดเพื่อวิเคราะห์แผนประทุษกรรมถึงการออกเอกสารสิทธิมิชอบ