กยท.ยืนยันไม่ได้ล็อคสเปคช็อปยางล้อช่วยชาติ

กยท.ยืนยันไม่ได้ล็อคสเปคช็อปยางล้อช่วยชาติ

กยท.ยืนยันไม่ได้ล็อคสเปคช็อปยางล้อช่วยชาติ ชี้เงื่อนไขเป็นไปตามมติครม.

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทยางล้อได้เข้าร่วมโครงการ แล้ว 7 บริษัท ประกอบด้วย IRC  Maxxis N.D Rubber ดีสโตน โอตานิ จงเช่อ รับเบอร์  และ V-Rubber ซึ่งมียอดสั่งซื้อวัตถุดิบยางประมาณ 3,000 ตัน โดยมีการจับมือกับภาคสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไปแล้ว อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางเขาซก จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง จำกัด สหกรณ์กองทุนส่วนยางคลองปราง จำกัด สหกรณ์กองทุนส่วนยางหนองบัว จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด เป็นต้น

ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 61 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (ช็อปช่วยชาติ) ในช่วงตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.61-16 ม.ค.62 ซึ่งผู้ซื้อยางสามารถนำหลักฐานการซื้อยางล้อและคูปองที่ทางร้านมอบให้ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ในวงเงิน 15,000 บาท

กยท. จึงได้เชิญชวนให้ผู้ผลิตยางล้อที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยทุกรายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการสนองนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิตยางล้อ หรือ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดย กยท.จะออกหลักฐานเป็นคูปองให้บริษัทนั้นๆ เพื่อมอบให้ผู้ซื้อยางในโครงการช็อปยางล้อช่วยชาติของกระทรวงการคลัง

นายณกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากเปิดโครงการแล้ว ได้มีบริษัทยางล้อบางบริษัทได้แจ้งว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ เพราะการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบคือยางพาราต้องส่งตัวอย่างไปให้บริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศตรวจสอบและรับรองก่อนซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงเลยช่วงเวลาของโครงการช็อปช่วยชาติ ประกอบกับกังวลว่าสถาบันเกษตรกร อาจส่งมอบวัตถุดิบไม่ตรงตามกำหนดเวลาจึงยื่นเรื่องขอซื้อยางพาราจากบริษัทเอกชนคู่ค้าประจำที่มีสัญญาซื้อขายกันอยู่และบริษัทคู่ค้าดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพจากบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้ว

"เงื่อนไขที่กำหนดให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการช็อปยางช่วยชาติดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่ข้อจำกัดในการล็อคสเปคหรือกีดกันบริษัทใดบริษัทหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการช็อปช่วยชาติแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราโดยตรง ในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปซื้อยางพาราในราคานำตลาดมาเก็บรักษาไว้ในให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเก็บรักษาด้วย"