ชูแคมเปญแก้รธน. ฝ่า '4ด่าน' ซูเปอร์ล็อก

ชูแคมเปญแก้รธน. ฝ่า '4ด่าน' ซูเปอร์ล็อก

กว่า 1 สัปดาห์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ “ปลดล็อก” คำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน ก.พ.2562

000 ไม่แปลที่ขณะนี้เราจะได้เห็นภาพการนำเสนอนโยบาย รวมถึง “แคมเปญ” หาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีบางพรรคหยิบเรื่องนี้มาเป็นนโยบายและยืนยันว่า จะดำเนินการทันทีหลังมีการเลือกตั้ง

000 โดยเฉพาะท่าทีของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ออกมาโพสต์ข้อความ ในทำนองปลุกคนไทยร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทวงคืนสิทธิตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับพรรคใหญ่อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่จะชูประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการหาเสียงในครั้งนี้

000 เช่นเดียวกับอีกหนึ่งพรรคนั่นคือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ก่อนหน้านี้เคยเสนอแนวคิดรวบรวมเสียงฝ่ายประชาธิปไตย 375 เสียงหรือกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

000 ทว่าการที่พรรคการเมืองหยิบเรื่องนี้มาเป็นนโยบายพรรคก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และพรรคเหล่านั้นย่อมรู้ดีถึง “ด่านซูเปอร์ล็อก” ที่ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย ถึงขั้นออกปากว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

000 เพราะกระบวนการในการแก้ไขในครั้งนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากของสองสภาเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกำหนด “4 ด่านซูเปอร์ล็อก” ประกอบด้วย

000 ด่านแรก การลงมติรับหลักการในวาระแรก ที่จะต้องลงมติเห็นชอบ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาจำนวนนี้ต้องมีเสียงจากส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน3ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” ซึ่งการใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 นี่เองที่เป็นเงื่อนไขใหม่ จนถูกทองว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก

000 ด่านที่ 2 การลงคะแนนในวาระที่ 3 ที่ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยต้องมีสมาชิกจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20% และส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

000 ด่านที่3 การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ หากผลออกมาว่าเห็นชอบด้วยให้แก้ไขเพิ่มเติม จะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำร่าง แก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ

000 ด่านที่4 กำหนดให้ขั้นตอนก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อต่อประธานสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขฯขัดต่อมาตรา 255 คือเป็นการการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่อีกด้วย

000 จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ด่าน ถือเป็นกลไกที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งพรรคการเมืองย่อมรู้ดีในส่วนนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการชู “แคมเปญ” ดังกล่าวอาจมีผลในแง่ของการปลุกแนวร่วมโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลและคสช.!!