วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (18 ธ.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (18 ธ.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับลงต่อ จากความกังวลปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

- ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงต่อ จากความกังวลปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shale oil) จะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปีนี้ และอาจพุ่งไปถึง 8.73 ล้านบาร์เรลในเดือน ม.ค 62. นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในเดือน ธ.ค. ที่ 11.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- ปริมาณสำรองน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบ Cushing, Oklahoma แตะระดับ 38.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปีนับตั้งแต่ ม.ค. 61 และเป็นการปรับเพิ่มต่อเนื่องถึง 10 สัปดาห์จากการขยายท่อขนส่ง Sunrise ใน West Taxas ตั้งแต่เดือน พ.ย. 61

- นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้เล่นรายใหญ่อย่างจีนและยุโรปที่ค่อนข้างซบเซาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบที่อาจปรับตัวลดลง

-/+ อย่างไรก็ดี นาย Suhail al-Mazrouei รัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ตลาดน้ำมันกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล และคาดว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะให้ความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตตามที่ได้ตกลงกันไว้ ณ กรุงเวียนนาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินของประเทศจีนที่ออกมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับโรงกลั่นแห่งใหม่ในประเทศจีนได้มีการเริ่มทดลองดำเนินการผลิตซึ่งอาจจะส่งผลทำให้มีอุปทานน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับสูง หลังปริมาณสต็อกน้ำมันดีเซลในประเทศสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศแอฟริกาใต้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังตกลงที่จะปรับลดลงกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน
  • ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังกองกำลังติดอาวุธบุกยึดแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่างแหล่ง El Sharara กำลังการผลิตกว่า 315,000 บาร์เรลต่อวัน

-------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999