พลิกหัวใจนักธุรกิจ พลังวาดโลกาภิวัฒน์

พลิกหัวใจนักธุรกิจ พลังวาดโลกาภิวัฒน์

เปิดวิสัยทัศน์ เคนเนธ คัม มองโลกาภิวัฒน์เดินมาถึงทางตัน ถึงเวลาที่นักธุรกิจ ผู้ถือหุ้น ต้องกล้าลุกขึ้นมาวาด “โลกาภิวัฒน์” บนโลกใบใหม่ ที่เกื้อกูลสังคมให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ และบริษัทอินฟลูเอ็นเชี่ยลแบรนด์ (ประเทศสิงคโปร์) (Influential Brands®) องค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและสำรวจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่มีต่อตราสินค้าต่างๆ ในเอเชียมากว่า 20 ปี ร่วมกันจัดงานมอบรางวัล สุดยอดแบรนด์ชั้นนำในเอเชีย “Influential Brands” พร้อมกันกับจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการตลาด และมีการแสดงวิสัยทัศน์ในมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตลาด รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนในยุคโลภาวิวัฒน์

โดยมีเคนเนธ คัม (Kennet Kam) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคนน ฟาวเดชั่น ประเทศสิงคโปร์ นักเขียนและเทรดเดอร์ชั้นนำ ฉายแนวคิดในหัวข้อ “Globalization with Heart” จากการเห็นแนวโน้มซึ่งกำลังจะกลายเป็นจุดจบของยุคโลกาภิวัฒน์ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการใช้เป้าหมายทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง ว่าถึงเวลาต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ หลังเศรษฐกิจโลกโตชะลอ โดยตั้งแต่ปี 2503 -2551 เศรษฐกิจโลกเฉลี่ยขยายตัว 3-5% แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตเพียง 0.2% 

ยังไม่ใช่จุดจบของโลกาภิวัฒน์ แต่เป็นจุดที่ต้องปรับโครงสร้างสมดุลโลกใหม่เขาฉายภาพ พร้อมระบุว่า

จุดเปลี่ยนคลื่นลูกสุดท้ายของ “โลกาภิวัฒน์” ที่เดินมาสู่ทางตัน เริ่มเห็นชัดช่วงปลายปี 2523 เมื่ออินเตอร์เน็ทได้เข้ามามีบทบาทด้านการสื่อสาร ในธุรกรรมทางธุรกิจ ทำให้รูปแบบทางการค้า การทำธุรกิจในยุคใหม่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การหลอมรวมซัพพลายเชน และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้หลายประเทศ จนกระทั่งทำให้ประกอบการใหม่ก่อร่างสร้างธุรกิจ กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหลายแสนคนอย่างรวดเร็ว และทำให้คนยากจนในหลายประเทศ หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะประชากรในจีนกว่า 500 ล้านคน ได้รับการยกระดับจากเส้นความยากจน

ข้อดีคือ ทำให้วิถีชีวิตคนดีขึ้นเข้าถึงการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เข้าถึงการรักษาพยาบาล อาหาร

ทว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคน ทั้งเครื่องยนต์เรียนรู้ (Machine Learning)และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI -Artificial Intelligence) มีศักยภาพทำงานแทนคน เช่น ไชน่า ซินหัว เปิดตัวของหุ่นยนต์อ่านข่าว ทำงานได้ 24 ชั่วโมง รวมไปถึงร้าน อเมซอน โก (Amazon Go) ขายสินค้าโดยไม่ต้องใช้แคชเชียร์ รถเข็น รวมถึงค้าขายออนไลน์เฟื่องฟูเพียงอาลีบาบา และ อเมซอน มียอดขายถึง 700,000 ดอลลาร์ เติบโตถึง 33% ตั้งแต่ปี 2555

รายงานจาก บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ได้ระบุถึงการปรับตัวของเทคโนโลยีในโรงงานแทนแรงงานคนถึง 30% เกิดขึ้นใน เกาหลี เยอรมัน และจีน นี่คือเหตุผลที่ทำให้โรงงานอาดิดาส ย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับไปยังเยอรมนี เพื่อใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ล้ำหน้า รวมไปถึงบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) โรงงานผลิตสมาร์ทโฟนแอปเปิ้ล มีการจ้างงานสูงสุดในจีนกว่า 1.3 ล้านอัตรา เริ่มก้าวเข้ามาไปลงทุนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถึง 55%

รายงานชิ้นนี้ยังคาดว่าภายในปี 2573 นายจ้างจะเพิ่มการลงทุนระบบการทำงานอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงานประมาณ 20-30% ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นชัดในการ“เปลี่ยนผ่าน”การทำธุรกิจป่วนในยุคโลกาภิวัฒน์ สอดคล้องกันกับยุคแรงงานเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดแคลน สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เขายังกล่าวถึงปัญหาที่ตามมาจากการสวนทางกันของแรงงาน คือ รัฐบาลในหลายประเทศเผชิญความท้าทายเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณเข้าไปดูแลผู้เกษียณอายุ โดยเฉพาะงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล ที่สวนทางกับอำนาจการซื้อสินค้าของบริโภคที่ลดลง ทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง

แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการแรงงงาน แต่กลับเกิดผลกระทบที่เป็นภาระของรัฐบาลที่ยากจะบริการจัดการประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ส่วนคนยุคมิลเลนเนียล กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง

ทั้งสองส่วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน 

เขายังมองว่า สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจากความไม่เท่าเทียมกันด้านโอกาส โดยรายงานด้านความไม่เท่าเทียมกันของโลก (The world Inequality Report 2018) ระบุว่า ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2523 โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ จีน อินเดีย รัสเซีย

ส่งผลทำให้ภาครัฐมีรายได้ที่ลดลง ไม่เพียงพอในการดูแลสังคม จนนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อช่องว่างรายได้ระหว่างชนชั้นนำกับกลุ่มคนชั้นล่างเพิ่มขึ้น

ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเริ่มกว้างขึ้น ทำให้เกิดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นของลัทธิประชานิยม ลัทธิชาตินิยม ลุกขึ้นมาเรียกร้องและปกป้องผลประโยชน์ ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ” เขามองต้นต่อปัญหาประท้วงรัฐ

โลกาภิวัฒน์ ที่เติบโตมา ถึงจุดกระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบโลกาภิวัฒน์ก็ตาม แต่นี่คือความจริงที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงเวลาที่ผู้นำด้านภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม จะต้องกลับมาทบทวนความคิด และร่วมกันวาดภาพโลกาภิวัฒน์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ครั้งใหม่ให้กับโลกน่าอยู่ขึ้น

แต่ต้องเป็นการวาดภาพใหม่ของยุคโลกาภิวัฒน์“ด้วยพลังแห่งหัวใจ” 

โดยการสร้างการเปลี่ยนแปลงอาจต้องเริ่มต้นจาก นักธุรกิจ ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในพลิกสู่การเปลี่ยนแปลงในการออกแบบ เปลี่ยนผ่านคลื่นลูกใหม่ของโลกาวิวัฒน์ ด้วยจิตสำนึกของความรับผิดชอบ

“สร้างสมดุลใหม่ให้กับโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน เพื่อให้คนทุกฝ่ายเติบโตไปพร้อมกัน ให้คนทุกคนบนโลกได้รับการประโยชน์จากการเติบโต ไม่ใช่เพียงคนระดับบนสัดส่วนเพียง 2% ของประชากรโลก”

เขายังเสนอแนวทางที่จะเปลี่ยนผ่านโลกยุคใหม่ ด้วยการพลิกรูปแบบการเติบโตในยุคโกลบอลทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และโมเดลการผลิต ในช่วงกว่า 10-20 ปีที่ผ่านมาให้ยืดหยุ่น แทนการผลิตด้วยปริมาณมากๆ รวมไปถึงให้ความร่วมมือกับภาคธุรกิจระดับชุมชน สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการผลิต หรือการพัฒนาธุรกิจ รวมไปถึงการให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ ธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน 

นอกจากนี้ การลงทุนเทคโนโลยี ยังเข้ามามีบทบาท ในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาส เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และสกุลเงินในโลกออนไลน์ (Crypto Currency) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ประชากรที่มีข้อจำกัดเข้าถึงเงินในธนาคาร ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่องทางอื่น

เขาตั้งมูลนิธิ เคนน์ (Kenn Foundation) ในปีที่ผ่านมาด้วยวิสัยทัศน์ที่สร้างโอกาสในการ เข้าไปเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา การวิจัยด้านการรักษาพยาบาล ตลอดจน การพัฒนาศิลปะ และสังคมวิทยา โดยมีหลากหลายโปรแกรมที่ทำให้ชุมชน ได้รับโอกาสพัฒนาทักษะ เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเข้าถึงเครือข่ายการพัฒนาทั่วโลก โดยใช้พันธมิตรที่เป็นเครือข่าย ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน มาร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้น

ความสำเร็จเกิดจากเครือข่ายนานาชาติ และโลกกาภิวัฒน์เข้ามาเชื่อมต่อกับระดับท้องถิ่น เพื่อมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปควบคู่กัน