ปลดล็อคการเมือง กับบางเรื่องที่ยังห้ามทำ

ปลดล็อคการเมือง กับบางเรื่องที่ยังห้ามทำ

11 ธ.ค.2561 เป็นวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)” มีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษามาครบ 90 วัน หลังจากนี้จะมีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วันตามกฎหมาย และจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน

ทันทีที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกคำสั่งปลดล็อกทางการเมืองทันที เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ไม่ใช่แค่การยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองและห้ามการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองเพียง 2-3 ฉบับตามที่คาดการณ์กันไว้เท่านั้น แต่ปรากฏว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช.ทั้งฉบับและบางส่วนถึง 9 ฉบับด้วยกัน

ประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ถูกยกเลิก สรุปง่ายๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มที่ 1 ปลดล็อกการห้ามนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคนไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ให้สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ตามปกติ ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันไปร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ, สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง

คำสั่ง คสช.ที่ยกเลิก คือ คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 กับ คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557

กลุ่มที่ 2 ปลดล็อกคำสั่งเรียกนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าค่ายทหาร หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป พร้อมคืนสิทธิ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองให้กับบุคคลที่เคยถูกจำกัดสิทธิ์โดยประกาศและคำสั่ง คสช.ด้วย

คำสั่งและประกาศ คสช.ที่ยกเลิก คือ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557 ประกาศ คสช.ที่ 40/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 80/2557

โดยในคำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 เป็นคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง มี 18 คน ปลดล็อกเฉพาะเรื่องห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง 18 คน ประกอบด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ชูศักดิ์ ศิรินิล วันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ธิดา โตจิราการ (ถาวรเศรษฐ) วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จุติ ไกรฤกษ์ ศิริโชค โสภา นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ สมศักดิ์ โกศัยสุข

กลุ่มที่ 3 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ หาเสียงได้ และเปิดเสรีให้ประชาชนร่วมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนได้

ประกาศและคำสั่งที่ยกเลิกคือ ประกาศคสช.ที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560  และ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561

แต่มีข้อสังเกตอยู่ คือ คสช.ปลดล็อกให้กับนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่ยังไม่ปลดล็อกสื่อ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไม่ได้ยกเลิกในส่วนที่เกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ฉะนั้นหากเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ คสช.ก็ยังสามารถสั่งห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารได้อยู่

หลังปลดล็อก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงทันทีว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ที่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองนี้ เรียกว่า “ปล่อยผี” คือปล่อยหมดจนไม่มีเหลือ ทั้งหาเสียง จัดประชุม ปราศรัย ไม่ต้องขออนุญาต คสช.อีกแล้ว จะขึ้นป้าย คัทเอาท์อะไรก็ทำได้หมด

แต่การ “ปล่อยผีแบบเสรีสุดๆ จะมีเพียงช่วงเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงราวๆ ต้นปีหน้า ประมาณวันที่ 2 ม.ค.2562 หลังจากนั้นการกระทำของพรรคการเมืองทุกอย่างจะถูกควบคุมโดยกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมาย กกต. การหาเสียงทุกประเภทที่ใช้เงิน จะถูกนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเพดานกำหนดอยู่ว่า ห้ามเกินเท่าไหร่ ถ้าเกินก็จะผิดกฎหมาย

ระเบียบกฎหมายที่ “ตีกรอบ” ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองหลังประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว จะไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐประหาร หรือ คสช. แต่จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมาย กกต. หลักๆ คือห้ามซื้อเสียง และห้ามใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.อธิบายว่า ผู้สมัครจะต้องหาเสียงโดยไม่แจกเงินซื้อเสียง ไม่ใส่ร้าย คำว่า “ไม่” หลายๆ อย่างที่ห้ามทำ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายการเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียง และการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องการหาเสียง โดยค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไร จะมีการนัดคุยกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดเพดานร่วมกันอีกครั้ง 

นอกจากนั้น การเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ยังขยายวงไปถึงคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้สมัครด้วย ฉะนั้นทั้งบรรดา กองเชียร์และ กองแช่งทั้งหลายต้องระวังให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพราะหวังดีหรือหวังร้าย ถ้าส่งผลให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบของตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง กระทั่งทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็มีหวังโดนเล่นงาน ซึ่งรวมไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียด้วย

“เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ในภาวะปกติที่ไม่มีการเลือกตั้งแบบทุกวันนี้ ก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคุมการแชท แชร์ และโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ถ้าการกระทำเดียวกันเกิดในช่วงมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. จะมีเรื่องการหาเสียงในโซเชียลมีเดีย และการใส่ร้ายเพิ่มเข้ามา ฉะนั้นถ้าไม่ชัวร์อย่าไปแชท อย่าไปแชร์ เพราะอาจจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้” เลขาธิการ กกต. ระบุ 

และว่า ขอฝากสื่อมวลชนเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ถ้าข้อความที่แชร์ไม่เป็นความจริง จะมีโทษทางอาญา และโทษค่อนข้างจะแรง ฉะนั้นอะไรที่ทำให้ตัวบุคคลเสียหาย ก็อย่าไปแชร์ ถ้าเป็นข้อความที่ทำให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเสียหาย อย่าไปแชร์ เพราะถ้าไม่จริงก็เข้าข่ายเป็นการใส่ร้าย ผิดกฎหมายทันที 

“เรื่องนี้ค่อนข้างจะเปราะบาง อะไรก็ตามที่ไม่ดีก็อย่าไปแสดงความคิดเห็น หรือมีใครที่แสดงข้อความไม่ดีก็อย่าไปแชร์ต่อ เพราะโซเชียลฯค่อนข้างจะไว อย่าไปคิดว่าแชร์แล้วจะหาตัวไม่เจอ เพราะระบบดิจิทัล สามารถหาตัวเจได้ไม่ยาก และพิสูจน์ทราบทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมด” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว 

นี่คือคำเตือนจากเลขาธิการ กกต. ฉะนั้่นการที่ คสช.ปลดล็อก ปล่อยผีก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนี้จะทำอะไรกันได้แบบเสรี เพราะยังมีกฎหมายปกติคอยควบคุมอยู่ เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งกฎหมายปกติที่ว่านี้ กำหนดโทษเอาไว้สำหรับความผิดแต่ละอย่างไม่น้อยทีเดียว!