ปลดล็อค ‘กับดักไอที’ ด้วย ‘ไฮบริด คลาวด์’

ปลดล็อค ‘กับดักไอที’  ด้วย ‘ไฮบริด คลาวด์’

เวลานี้องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต่างยอมรับถึงประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องมีการใช้งานระบบ “คลาวด์” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ส่วนตัว(Private Cloud)” หรือ คลาวด์สาธารณะ(Public Cloud)

สุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด วิเคราะห์ว่า องค์กรต่างๆ ต้องการก้าวข้ามข้อจำกัดด้านงบประมาณจากการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าบำรุงรักษาระบบจำนวนมาก 

ขณะเดียวกัน ช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัว พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ช่วยให้องค์กรสามารถแชร์การใช้งานหรือเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในระบบ ได้คุ้มค่า รวดเร็ว ตลอดจนสามารถปรับแต่ง เพิ่มลด โอนย้ายทรัพยากรไอทีให้เหมาะสมกับปริมาณงาน หรือลักษณะการใช้งานในแต่ละช่วงเวลา

เลือกใช้ตามโจทย์ธุรกิจ

ที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่จะมองว่า “คลาวด์ส่วนตัว” มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสำหรับบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล(ดาต้าเซ็นเตอร์) โดยเป้าหมาย คือ การรองรับกระบวนการทำงานที่เป็นหัวใจหลักทางธุรกิจ(Core Business) ที่เกี่ยวพันกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นในการปฏิบัติงานที่มีปริมาณมากและมีความซับซ้อน หรือการเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการกำกับดูแลความปลอดภัยที่สูงกว่าระบบคลาวด์สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อการดำเนินธุรกิจต้องมีผลผูกพันกับกฎหรือข้อกำหนดที่เคร่งครัดในเรื่องการควบคุมข้อมูล 

นอกจากนี้ อีกข้อดียังช่วยจัดระเบียบและจัดสรรทรัพยากรไอทีได้ถูกที่ถูกทาง ยืดหยุ่นกับการใช้งาน สามารถเปลี่ยนผ่านการใช้งานบางส่วนบนสภาพแวดล้อมไอทีแบบเดิมๆ ไปสู่การใช้งานผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกับการต่อยอดสู่การใช้งานนวัตกรรมไอทีเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ หรือเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น ไอโอที

ขณะที่เอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ อาจถูกใจกับ “คลาวด์สาธารณะ” ซึ่งเป็นการใช้บริการแบบจ่ายเท่าที่ใช้(Pay as You Go) โดยไม่จำเป็นต้องสร้างระบบขึ้นมาเอง จะเห็นว่าผู้ให้บริการในปัจจุบันต่างพัฒนาบริการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้รอบด้าน อาทิ บริการด้านซอฟต์แวร์(Software as a Service - SaaS) บริการด้านอินฟราสตรัคเจอร์(Infrastructure as a Service – IaaS) บริการด้านแพลตฟอร์ม(Platform as a Service – PaaS) ทำให้องค์กรเล็กๆ ที่ไม่ได้มีงบประมาณหรือบุคลากรด้านไอทีมากนัก สามารถเริ่มต้นต่อยอดธุรกิจ หรือขยายขีดความสามารถในการทำงานด้วยเทคโนโลยีไอทีได้ง่าย รวดเร็ว ด้วยบริการและการกำกับดูแลด้านไอทีบนคลาวด์ที่ใกล้เคียงกับองค์กรขนาดใหญ่ และยังได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยไม่ต้องยุ่งยากอัพเกรดด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาความเปลี่ยนแปลงธุรกิจในอนาคตได้ และบางกรณีอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปหากองค์กรจะตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากทั้งสองระบบต่างมีทั้งข้อดี และข้อเสีย แตกต่างกันออกไป

"ถ้าองค์กรเลือกจะเก็บการใช้งานทั้งสองแบบไว้ ก็จะไม่ต่างจากการมีไอทีถึงสองระบบ ซึ่งมีโอกาสทำให้การบริหารจัดการยุ่งยาก ขาดความราบรื่นหรือความต่อเนื่อง เมื่อต้องสลับการทำงานไปมาระหว่างกัน ทั้งยังเพิ่มภาระให้กับผู้ดูแลระบบและผู้ใช้งานในองค์กรที่ต้องเรียนรู้การทำงานของทั้งสองแบบ ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณในการบำรุงรักษา"

เชื่อมโยงจุดแข็ง-กำจัดจุดอ่อน

เขากล่าวว่า การแก้ปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าวมีทางเลือกคือ เทคโนโลยี “ไฮบริด คลาวด์(Hybrid Cloud) หรือ คลาวด์ลูกผสม” ที่ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น สามารถอุดรอยรั่ว หรือลดความไม่มีประสิทธิภาพที่เกิดจากการทำงานของคลาวด์ส่วนตัวและคลาวด์สาธารณะ และตอบสนองฟังก์ชั่นการทำงานที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว และครบถ้วนมากขึ้น

ไฮบริดคลาวด์ยังช่วยปลดล็อคข้อติดขัดในเรื่องความคล่องตัวในการใช้งาน โดยองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งาน หรือโยกย้ายถ่ายโอนปริมาณงาน ตลอดจนทรัพยากรในดาต้าเซ็นเตอร์ไปอยู่บนระบบนิเวศแบบคลาวด์สาธารณะ หรือจะเปลี่ยนกลับมาสร้างบริการการใช้งานแบบคลาวด์ส่วนตัวในองค์กรเมื่อใดก็ได้ 

นอกจากนี้ สามารถลดภาระและเวลาในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทำให้ผู้พัฒนาสามารถเขียนโค้ดโปรแกรมเพื่อต่อยอดการใช้งานได้ทั้งบนคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัวได้ในคราวเดียวกัน สำคัญก้าวข้ามความเสี่ยงจากการลงทุนพัฒนาระบบไอที โดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง

ในอนาคตอันใกล้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มีความยืดหยุ่นจะเป็นข้อได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญสำหรับทุกองค์กร แพลตฟอร์มแบบไฮบริด คลาวด์ ที่สามารถเชื่อมโยงจุดแข็ง และกำจัดจุดอ่อนของการใช้งานคลาวด์ทั้งสองระบบทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น จึงนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเติมเต็มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่องค์กรสามารถหยิบจับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที 

ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถพัฒนากระบวนการทำงาน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านบริการใหม่ๆ ที่เท่าทันกับความต้องการของลูกค้า และสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัด